ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 175 โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

               (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

               (2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์

               (3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่

               (4) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว

               ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 2252/2560 ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 175 (4) นั้น บุคคลวิกลจริตผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 30 จะบอกล้างนิติกรรมเสียได้ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว เมื่อ ด. ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นคนวิกลจริต จนต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้ ด. เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ ด. ยังคงเป็นคนวิกลจริต ไม่อาจบอกล้างโมฆียะกรรมได้ ดังนี้ที่จำเลยต่อสู้ว่า ด. บอกล้างนิติกรรมถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี แล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้ ด. อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้อนุบาลย่อมมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 (2) และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาล ด. อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 แล้ว นิติกรรมที่ ด. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หาย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามคำฟ้องคืนแก่ ด. ของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคสาม

               ฎีกาที่ 16115/2557 ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีข้อความชัดแจ้งว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองจะขายให้แก่โจทก์นั้นมีภาระติดพันเพียงการจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารเท่านั้น และจำเลยทั้งสองรับรองว่าที่ดินที่จะขายให้แก่โจทก์ไม่มีภาระติดพันหรือการรอนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีภาระจำยอมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสองเบิกความขัดแย้งกับสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ถือว่าขณะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายนั้น จำเลยทั้งสองปกปิดความจริงว่าที่ดินพิพาทที่มีการทำสัญญาจะซื้อขายรวมกับที่ดินแปลงอื่นมีภาระจำยอมติดอยู่ แต่จำเลยทั้งสองปกปิดไม่ยอมแจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบ ถือว่าจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากจำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทมีภาระติดพันคือภาระจำยอมอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่เข้าทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยทั้งสอง นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิในการบอกล้างนิติกรรมการทำสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 วรรคหนึ่ง (3)