ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 183 นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน
นิติกรรมนั้นย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลัง
นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
ถ้าคู่กรณีแห่งนิติกรรมได้แสดงเจตนาไว้ด้วยกันว่า
ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนสำเร็จ
ก็ให้เป็นไปตามเจตนาเช่นนั้น
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 2419/2552
ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2546
ระหว่างนางสาวเหมือนนิจกับจำเลย ระบุรายละเอียดไว้ในข้อ 5 ว่า "ผู้ซื้อจะชำระเงินทั้งหมด 11,000,000
บาท เมื่อผู้ขายได้ยกเลิก ส.ป.ก. 4 - 01 แปลงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว"
และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม
2548 ระหว่างโจทก์กับจำเลย ระบุรายละเอียดไว้ในข้อ 3 ว่า "ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำค่าที่ดินให้กับผู้จะขายเป็นเงินจำนวน
1,000,000 บาท... สำหรับค่าที่ดินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 10,000,000
บาท ผู้จะขายตกลงให้ผู้จะซื้อชำระภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2549... แต่ถ้าหากปรากฏว่าผู้จะซื้อได้ดำเนินการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินแล้วเสร็จก่อนที่จะถึงวันนัดชำระเงินส่วนที่เหลือ
ผู้จะซื้อจะต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 10,000,000 บาท
ให้กับผู้จะขายในวันประกาศแจกโฉนดที่ดิน
และผู้จะขายตกลงส่งมอบการครอบครองให้กับผู้จะซื้อนับตั้งแต่วันที่ผู้จะซื้อชำระราคาค่าที่ดินครบถ้วน"
เมื่อพิจารณาข้อสัญญาดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า
คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะซื้อขายที่ดินพิพาทก็ต่อเมื่อที่ดินพิพาทได้มีการยกเลิกเอกสารสิทธิ
ส.ป.ก. 4 - 01 และได้ออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินแล้ว
หาใช่มีเจตนาตกลงซื้อขายที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็น ส.ป.ก. 4 - 01 ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนและห้ามมิให้ทำการซื้อขาย
อันจะทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่
ส่วนที่ดินพิพาทจะสามารถดำเนินการยกเลิกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 และออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินได้จริงดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องและระบุไว้ในสัญญาหรือไม่
จำเป็นต้องฟังพยานหลักฐานของคู่ความให้เสร็จสิ้นกระแสความเสียก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว
การที่ศาลชั้นต้นด่วนพิพากษายกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องนั้น
จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยการพิจารณา
ฎีกาที่ 8691/2553
โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามีความเข้าใจตรงกันและมีเจตนาที่แท้จริงในการทำสัญญาซื้อขายระหว่างกันว่า
ถ้าการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้สินค้าของโจทก์ใบสั่งซื้อสินค้าเป็นอันยกเลิก
มิได้หมายความถึงว่าต้องให้การไฟฟ้านครหลวงยกเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างกับบริษัท ย.
ก่อน จึงจะถือว่าใบสั่งซื้อสินค้าเป็นอันยกเลิกดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
การที่ข้อตกลงในการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมีว่าหากการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้ท่อร้อยสายไฟฟ้าที่เป็นสินค้าของโจทก์ให้ถือว่าใบสั่งสินค้าเป็นอันยกเลิกนั้น
ถือเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับหลัง
เมื่อต่อมาการไฟฟ้านครหลวงไม่อนุมัติให้ใช้สินค้าของโจทก์
นิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จตาม
ป.พ.พ. มาตรา 183 วรรคสอง
0 ความคิดเห็น