ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 181 เว้นแต่ในกรณีที่คำร้องนั้นอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว
(1) ห้ามไม่ให้มีคำสั่งยอมรับการแก้ไข
เว้นแต่จะได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน
ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องนั้น
(2) ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความได้แก้ไขคำฟ้อง
หรือคำให้การ
เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้อหาหรือข้อต่อสู้ใหม่
หรือข้ออ้าง หรือข้อเถียงใหม่ที่กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขนั้น
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 6058/2551
จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่คลอดจนถึงขณะฟ้องแย้งเป็นเวลา
10 ปี ปีละ 25,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000
บาท และต่อไปเป็นเวลา 10 ปี ปีละ 25,000
บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท รวม 5,000,000
บาท จำเลยประสงค์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงบุตรปีละ 250,000 บาท การที่จำเลยขอแก้ไขฟ้องแย้งให้ถูกต้อง เนื่องจากพิมพ์ตัวเลขตกไป
จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย
อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 180 ทั้งจำเลยไม่ได้ขอแก้ไขทุนทรัพย์
โดยยังคงติดใจเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู 2,000,000 บาท
และไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อหาตามฟ้องแย้งเดิมตามมาตรา 179 จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา
181 ที่จะต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย
3 วัน ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องนั้น
ฎีกาที่ 6975/2549
ในส่วนที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่าภายหลังจากแจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรแก่จำเลยแล้วจำเลยนำเงินมาชำระหนี้คืนโจทก์ระหว่างวันที่
27 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นเงินจำนวน 54,200 บาท เป็นการเพิ่มเติมฟ้องในสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นที่จำเลยในการต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ซึ่งการชำระหนี้บางส่วนย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนมีคำสั่งจึงเป็นการไม่ชอบด้วย
ป.วิ.พ. มาตรา 181 (1) แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจำเลยให้การว่าคดีขาดอายุความ
แม้จะไม่มีการเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าว
ศาลก็สามารถหยิบยกเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยการชำระหนี้บางส่วนซึ่งปรากฏในทางพิจารณาแล้วขึ้นวินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความได้
กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
ฎีกาที่ 2369/2519
โจทก์ฟ้องจำเลยผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินร่วมกับส.
ให้แบ่งแยกที่ดินส่วนของ ส. ให้โจทก์
และโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ชื่อจำเลยในฟ้องจากนางสาวสนธนาเป็นนางสาวสมธนา ดังนี้
เป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินร่วมกับ ส.
คือจำเลยนั่นเอง โจทก์เพียงแต่จะขอแก้ชื่อที่ผิดเพี้ยนให้ตรงกับความจริงเท่านั้น
และการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องดังกล่าวก็กระทำก่อนส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย
ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งอนุญาตให้แก้ฟ้องได้
โดยส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องพร้อมกับคำร้องขอแก้ฟ้องและคำสั่งศาลให้จำเลย
ไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบล่วงหน้าเพื่อให้จำเลยมีโอกาสคัดค้าน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181
0 ความคิดเห็น