ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 183 ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความ แล้วนำข้ออ้าง ข้อเถียง ที่ปรากฏในคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คำคู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความให้ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้

               ในการสอบถามคู่ความตามวรรคหนึ่ง คู่ความแต่ละฝ่ายต้องตอบคำถามที่ศาลถามเองหรือถามตามคำขอของคู่ความฝ่ายอื่น เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่นยกขึ้นเป็นข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่คู่ความจะยื่นต่อศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุผลแห่งการปฏิเสธได้ในขณะนั้น

               คู่ความมีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบที่ศาลกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบ ให้ศาลชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยาน คำชี้ขาดคำคัดค้านดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 226

 

หมายเหตุ

               ในการพิจารณาคดี คำว่า ประเด็น หมายถึงเรื่องต่างๆ ที่คู่ความยกขึ้นให้ศาลพิจารณาหรือวินิจฉัย ซึ่งแยกพิจารณาได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเด็นแห่งคดีและประเด็นข้อพิพาท

               1. ประเด็นแห่งคดี มี 2 กรณี คือ

               กรณีแรก ประเด็นที่เกิดจากคำฟ้อง หรือเรียกว่าประเด็นตามคำฟ้องหรือประเด็นข้ออ้าง 

               กรณีที่สอง ประเด็นที่เกิดจากคำให้การหรือเรียกว่าประเด็นตามคำให้การหรือประเด็นข้อเถียง (มาตรา 177 วรรคสอง) 

               2. ประเด็นข้อพิพาท หมายถึง ประเด็นแห่งคดีที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาที่คู่ความยังโต้เถียงกันอยู่

               ฎีกาที่ 1121/2511 ถ้ามีปัญหาข้อใดในคดีไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย หากคู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับย่อมเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท แต่ถ้าปัญหาข้อใดที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับ แล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท เพราะเป็นอันฟังได้ตามที่รับกันนั้น

 

อ้างอิง

http://old-book.ru.ac.th/e-book/l/LW314(47)/lw314(47)-2.pdf