ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 201 เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี
หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 3244/2563
การส่งสำเนาอุทธรณ์ไปยังที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุในคำฟ้อง
แม้ผู้รับจะมีอายุไม่ถึง 20 ปี
อันจะทำให้รับฟังว่าเป็นการส่งไม่ชอบก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ตามที่อยู่ดังกล่าวในช่วงที่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ และพบว่าจำเลยที่
1 ได้กระทำผิดในคดีอื่น กรณีจึงถือได้ว่า
การส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบ
หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 ซึ่งกำหนดให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป
การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของการส่งสำเนาอุทธรณ์จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว
ฎีกาที่ 686/2553
พนักงานเดินหมายส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลย 2
ครั้ง โดยไม่สามารถส่งได้เนื่องจากไม่พบบ้านของจำเลย
แต่เมื่อส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 กลับพบบ้านของจำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้อง
เพียงแต่บ้านปิดใส่กุญแจ จึงส่งหมายนัดได้โดยวิธีปิดหมาย ถือไม่ได้ว่า
การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ
หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาคดีโดยมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยเพื่อแก้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา
200
ฎีกาที่ 1927/2537
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยอุทธรณ์มาตรา 198,200
และ 201 มีความหมายชัดเจนบังคับไว้ว่า
เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์แล้วเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งและกำหนดเวลาให้แก้อุทธรณ์ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์
การที่ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ว่า “รับเป็นอุทธรณ์โจทก์ สำเนาให้อีกฝ่าย” และออกหมายนัดส่งให้แก่จำเลยที่
1 โดยมีข้อความในหมายนัดว่า “ด้วยคดีเรื่องนี้ศาลได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ดังสำเนาอุทธรณ์แนบมาพร้อมหมายนี้
เพราะฉะนั้นจึงแจ้งมาให้ทราบ” เป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยที่ 1
ทราบเท่านั้น มิได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการอุทธรณ์
0 ความคิดเห็น