ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                    มาตรา 745 ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้

 

หมายเหตุ

                    ฎีกาที่ 7397/2561 การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) มีผลเพียงทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าว แต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745

                    ฎีกาที่ 6119/2559 เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความกรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 745 ที่บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสามารถที่จะบังคับเอากับตัวทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินกว่าห้าปีที่ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (5)

                    ฎีกาที่ 7804/2559   ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์นำไปวางพร้อมเงินต้นที่สำนักงานวางทรัพย์ เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองที่ค้างชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี เท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนองที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนสิทธิจำนองซึ่งมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้รับจำนอง จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในส่วนเกินกำหนดเวลาดังกล่าวนี้หาได้ไม่ และโจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 331