ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 357
ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ
รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด
ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์
ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น
ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335
(10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี
และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น
ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ
การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340
ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี
และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
หมายเหตุ
1.
“ช่วย”
แม้ไม่ได้รับทรัพย์เอาไว้เองแต่ช่วยแนะนำ เป็นรับของโจร; มีคนเอาปืนมาจำนำจำเลย
จำเลยไม่มีเงินจึงพาไปจำนำกับผู้อื่นโดยจำเลยช่วยพูดจาให้เขารับจำนำ เช่นนี้
เป็นการช่วยจำหน่าย(ฎีกาที่ 680/2508), การกระทำความผิดฐานรับของโจร
ผู้กระทำไม่จำต้องรับทรัพย์ของกลางไว้ในความครอบครองของตนเอง เพียงแต่ช่วยซ่อนเร้น
ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ
หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้
อ. นั่งซ้อนท้าย บรรทุกโทรทัศน์ของกลางจะไปที่อำเภอดอนสัก
โดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่ อ. ลักมา
ก็เป็นการช่วยพาเอาไปเสียอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานรับของโจรแล้ว(ฎีกาที่ 8396/2552)
2.
รับไว้โดยประการใด; พฤติการณ์ที่จำเลยรับเป็ดของกลางจำนวนมากถึง 1,000
ตัวไว้จาก ป.
โดยไม่มีข้อตกลงในการซื้อขายหรือฝากเลี้ยงกันในลักษณะใดนั้น
ถือได้ว่าเป็นการรับไว้โดยประการใด ตาม ป.อ.มาตรา 357(ฎีกาที่
5158/2533)
3.
มาตรา 357 วรรคแรก
ผู้รับของโจรต้องรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด
แต่ไม่จำต้องรู้ว่าเป็นความผิดฐานใด;
4.
มาตรา 357 วรรคสองและสาม
ผู้รับของโจรต้องรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 335(10)
ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ ชิงทรัพย์มาตรา 339 ทวิ หรือปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340
ทวิ ; มาตรา 335 (10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์, มาตรา 335 ทวิ
ทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา..., มาตรา 339
ทวิ การชิงทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ..., มาตรา 340 ทวิ
การปล้นทรัพย์ได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ...;การจะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้
ก็ต่อเมื่อได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3
รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตาม
ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย
เมื่อทางพิจารณาได้ความเพียงว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่ น.
ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1
ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์
จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตาม
ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ คงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357
วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น(ฎีกาที่ 6772/2558)
5.
ผู้กระทำความผิดฐานรับของโจรต้องมิใช่ผู้กระทำความผิดทั้ง
9 ฐาน;
6.
ความผิดสำเร็จของความผิด; มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป
วันเกิดเหตุจำเลยเข้ามานั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ดังกล่าวซึ่งจอดอยู่แล้วไขกุญแจรถ
เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจแสดงตัวจำเลยทิ้งรถวิ่งหนี
แสดงว่าจำเลยรู้ว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์
การที่จำเลยนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์แล้วไขกุญแจรถ
เป็นการเข้ายึดถือครอบครองรถจักรยานยนต์ เมื่อจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานรับของโจร(ฎีกาที่ 5701/2531), จำเลยรับเช็คไว้โดยรู้ว่าเป็นเช็คอันได้มาจากการลักทรัพย์แม้จำเลยจะไม่มีทางรับเงินตามเช็คได้
เพราะเช็คถูกอายัดไว้แล้ว
ก็เป็นความผิดฐานรับของโจรสำเร็จแล้วไม่ใช่เพียงขั้นพยายาม(ฎีกาที่ 2177/2520)
7.
รับของโจรมาจากผู้รับของโจรอีกต่อหนึ่ง; จำเลยที่ 2 รับของโจรกระบือจากบุคคลที่ลักมา แล้วขายให้จำเลยที่ 1
หากจำเลยที่ 1 รับซื้อไว้โดยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าเป็นกระบือของร้าย
ก็มีความผิดฐานรับของโจรได้(ฎีกาที่ 1010/2506)
8.
ดอกผลของทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด;
9.
ทรัพย์ที่รับของโจรได้เปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์อื่น; นําอาวุธปืนที่ได้จากลักทรัพย์ไปขาย
เงินที่ได้จากการขายอาวุธปืน
ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป(ฎีกาที่ 1151/2512), ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคนร้ายนําทรัพย์ที่ชิงมาไปจำนำ จําเลยรับเงิน
และตั๋วจำนำไว้โดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิด
ไม่ผิดฐานรับของโจรเพราะความผิดฐานรับของโจรต้องเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย
แต่คดีนี้การจำนำ ไม่ผิดกฎหมาย ตั๋วจำนำและเงินจึงไม่ได้ชื่อว่าได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย(ฎีกาที่
638/2478)
10.
ลักทรัพย์ของผู้เสียหายจากผู้ลักทรัพย์คนแรก
เป็นความผิดฐานลักทรัพย์; การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจาก ส. โดยทุจริต แม้ ส.
จะเป็นผู้ที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง
ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้แย่งการครอบครองไปจาก ส.
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
หาใช่เป็นความผิดฐานรับของโจรไม่(ฎีกาที่ 1785/2554)
0 ความคิดเห็น