ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 271 ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีซึ่งมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา
276 และมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ
อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น
หรือตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้ส่งคดีไปยังศาลชั้นต้นแห่งอื่นที่มิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นเพื่อการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา
243 (2) และ (3) ให้ศาลที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่นั้นเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี
เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่จะต้องบังคับคดีนอกเขตศาล
ให้ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีมีอำนาจตั้งให้ศาลอื่นบังคับคดีแทนได้ หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำแถลงหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีแทนทราบพร้อมด้วยสำเนาหมายบังคับคดีหรือสำเนาคำสั่งกำหนดวิธีการบังคับคดี
ในกรณีเช่นว่านี้
ให้ศาลดังกล่าวแจ้งให้ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีทราบโดยไม่ชักช้า
และให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีแทนตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือมีคำสั่งอื่นใดเพื่อดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ถ้าเป็นการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้อง
ให้ศาลที่บังคับคดีแทนส่งทรัพย์สินที่ได้จากการยึดหรืออายัดหรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้น
แล้วแต่กรณี ไปยังศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีเพื่อดำเนินการไปตามกฎหมาย
ในกรณีที่มีการบังคับคดีนอกเขตศาลโดยบกพร่อง
ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย ให้ศาลที่บังคับคดีแทนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับคดีใด
ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง
ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้น รวมถึงดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องได้ เว้นแต่เมื่อการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นและแจ้งผลการบังคับคดีไปยังศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีแล้ว
ให้เป็นอำนาจของศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีเท่านั้น
หมายเหตุ
1.
ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น; ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือทำคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการบังคับคดี
คือศาลที่พิจารณาคดีนั้นในชั้นต้น ฯลฯ
การที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เพื่อจะมิให้มีการก้าวก่ายสับสนหน้าที่กัน(ฎีกาที่ 562/2490),การดำเนินการในชั้นบังคับคดีและเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด
ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา
คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302
วรรคหนึ่ง(เดิม) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
มาตรา 31 จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้โจทก์คืนเงินในส่วนที่จำเลยที่
1 ไม่ต้องรับผิดโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาได้(ฎีกาที่ 3269/2561)
2.
ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี
มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ
อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง(มาตรา 271 วรรคหนึ่ง);คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นคำฟ้องที่โต้แย้งและเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา
ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 302
วรรคหนึ่ง(ปัจจุบันคือมาตรา 271) ประกอบมาตรา 7(2)
ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจะต้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิม ไม่ใช่ว่าเมื่อมีปัญหาเกี่ยวด้วยการบังคับคดีก็ฟ้องคดีใหม่ต่อไปจะทำให้ไม่รู้จักจบสิ้น
ที่โจทก์ทั้งสองนำเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาเดิมมาฟ้องเป็นคดีนี้โดยอ้างว่าเป็นการถูกโต้แย้งสิทธิ
จึงไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้(ฎีกาที่ 4439/2560), แม้คดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วในชั้นบังคับคดีเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้
คู่ความก็ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลอธิบายคำพิพากษานั้นได้(ฎีกาที่ 475/2508),
ศาลพิพากษาให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตรงตามโฉนดโดยถือตามคำฟ้องของโจทก์
เมื่อปรากฏในชั้นบังคับคดีว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่แท้จริงขาดไปจากจำนวนที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน
ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้บังคับคดีแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ลดลงตามส่วนของเนื้อที่ดินที่เหลือผิดไปจากคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วได้
กรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการแก้ไขคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วเพราะในชั้นบังคับคดีศาลย่อมมีอำนาจบังคับคดีไปตามความเป็นจริงได้(ฎีกาที่
1901/2530), โจทก์ได้รับชำระเงินค่าที่ดินจากจำเลยครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วโจทก์ย่อมไม่มีบุริมสิทธิสำหรับเอาชำระราคาและดอกเบี้ยในราคานั้นลเหนือที่ดินแปลงดังกล่าวอีกตาม
ป.พ.พ. มาตรา 276
แม้ศาลมิได้พิพากษาบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนถอนบุริมสิทธิเหนือที่ดินนั้นก็ตาม
เมื่อปรากฏว่าบุริมสิทธิที่มีอยู่เหนือที่ดินไม่มีผลต่อไปแล้ว
โจทก์ก็ต้องไปจดทะเบียนถอนบุริมสิทธิเหนือที่ดินเป็นการตอบแทนจำเลย
จำเลยมีสิทธิขอให้บังคับโจทก์ในคดีเดิมได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
และมิใช่เป็นกรณีบังคับนอกเหนือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแต่อย่างใด(ฎีกาที่ 2403/2527),
การที่ผู้ร้องนำเงินของจำเลยที่ 1
ซึ่งอยู่ที่ผู้ร้องส่งศาลตามที่ศาลมีคำสั่งอายัดชั่วคราวนั้น
เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่ออกหมายอายัดไป
แม้ในตอนแรกมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม
แต่เมื่อภายหลังพบว่าได้ส่งไปให้เกินกว่าจำนวนเงินของจำเลยที่ 1
จะถือว่าผู้ร้องยอมรับว่าเป็นเงินของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดหาได้ไม่ เมื่อผู้ร้องอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนที่ได้ส่งเฉพาะส่วนที่เกินไป
จึงเท่ากับอ้างว่ามิใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ 1
ผู้ร้องจึงมีสิทธิติดตามเอาคืนในฐานที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
โดยขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งคืนให้แก่ผู้ร้องได้(ฎีกาที่ 4762/2534),
การบังคับคดีตามคำพิพากษาว่าไม่ถูกต้อง
ต้องไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดี(ฎีกาที่ 2145/2542)
3.
คำร้องหรือคำร้องขอที่จะยื่นต่อศาลที่บังคับคดีแทนไม่ได้
จะต้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี; คำร้องขัดทรัพย์หรือขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตามมาตรา 323(ฎีกาที่
9362/2551), คำร้องขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 324(ฎีกาที่ 7562/2548),
คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรา 326(ฎีกาที่ 2842/2549), คำร้องขอกันส่วนตามมาตรา 322(ฎีกาที่ 8847/2556), คำร้องขอให้งดการบังคับคดี(ฎีกาที่
2769/2539)
0 ความคิดเห็น