ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

               (1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

               (2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้

               (3) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

               (4) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

               (5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี

 

คำอธิบาย

               การรับสภาพหนี้( มาตรา 193/14 (1) ) มี 5 ประการ คือ

               (1) ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้

               (2) ลูกหนี้ชำระหนี้บางส่วน

               (3) ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ย

               (4) ลูกหนี้ให้ประกัน

               (5) ลูกหนี้กระทำการใด ๆ อันเห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้

 

               หนังสือรับสภาพหนี้ เป็นหนังสือรับรองหรือยอมรับว่าเป็นหนี้อยู่จริง และต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ทำการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เท่านั้น

               เช่นสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญ (ฎีกาที่ 2340/2562), สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ (ฎีกาที่ 10098/2558), สัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตาย ทายาทคนหนึ่งเข้ารับเอาทรัพย์สินนั้นด้วยการชำระค่าเช่าซื้อ ถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้แล้ว (ฎีกาที่ 16836/2557)

               - การรับสภาพหนี้ จะต้องมีหนี้เกิดขึ้นก่อนแล้ว จึงจะรับสภาพหนี้ได้ และต้องทำก่อนคดีจะขาดอายุความ

                - ผู้รับมรดกของผู้ตายได้ทำการรับสภาพหนี้ของผู้ตาย เช่นนี้ก็ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ด้วย(ฎีกาที่ 607/2481)

 

อ้างอิง

กำชัย จงจักรพันธ์. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยระยะเวลา. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558.