ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย
มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
หมายเหตุ
1.การเกิดมรดก
มรดกเกิดขึ้นเมื่อมีความตายของบุคคล และมรดกจะตกทอดแก่ทายาท
บุคคลที่จะต้องถึงแก่ความตาย จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น
นิติบุคคลไม่อาจถึงแก่ความตายได้
2. ความตายของบุคคลธรรมดาที่ก่อให้เกิดมรดก
มี 2 ประการ
2.1
ตายตามความเป็นจริงหรือตายตามธรรมชาติ
การตายแพทย์จะเป็นผู้ยืนยันว่าตายแล้วหรือไม่
ตายเมื่อใด ตายด้วยสาเหตุใด ระยะเวลาที่ตายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นผลว่ามรดกจะตกทอดแก่ทายาทเมื่อใด
ในกรณีบุคคล 2 คน
ตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน เช่น บิดาและบุตร ดูฎีกาที่ 13129/2556
ฎีกาที่ 13129/2556 ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน
ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคล
ที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง
และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก.
เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ.
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก.
2.2
ตายโดยผลของกฎหมายหรือตายโดยนิตินัย ที่เรียกว่า คนสาบสูญ
คนสาบสูญ คือ
คนที่ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่
ตลอดระยะเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี และศาลมีคำสั่งว่าเป็นคนสาบสูญ ตาม
ป.พ.พ.มาตรา 61 และ 62
การตายโดยผลของกฎหมายจะต้องมีคำสั่งศาลว่าเป็นคนสาบสูญก่อน
ต้องมีการยื่นคำร้องขอต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท โดยในขณะยื่นคำร้องระยะเวลา 5
ปี หรือ 2 ปี ต้องล่วงพ้นไปแล้ว หากขณะยื่นคำร้องกำหนดระยะเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี
ยังไม่ล่วงพ้นไป ศาลต้องมีคำสั่งยกคำร้อง(ฎีกาที่ 5770/2548)
อ้างอิง
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา. รวมคำบรรยาย ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562 เล่มที่ 1.
0 ความคิดเห็น