ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 4 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน 

               ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5 (2) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา

               มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้ 

                    (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล 

                    (2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ 

                    (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น

 

หมายเหตุ

ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามมาตรา 4

1.หญิงมีสามีตามมาตรา 4 ต้องเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย

               คำว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5 (2)” ตามมาตรา 4 วรรคสอง หมายถึง กรณีหญิงมีสามีถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ สามีมีสิทธิฟ้องคดีแทนภริยาได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยาก่อน

               สำหรับการอนุญาตให้สามีฟ้องคดีตามมาตรา 4 วรรคสอง อาจจะอนุญาตด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้

 

ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามมาตรา 5

1. ผู้แทนโดยชอบธรรม(มาตรา 5 (1)) ได้แก่ บิดามารดา, ผู้ปกครองที่ศาลตั้ง(ป.พ.พ.มาตรา 1585), ผู้รับบุตรบุญธรรม

               กรณีบิดา ต้องบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย((ฎีกาที่ 6306/2545)

2. ผู้อนุบาล(มาตรา 5 (1)) ต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและแต่งตั้งผู้อนุบาลแล้ว

               กรณีผู้พิทักษ์ของบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ ผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนหรือจัดการคดีแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถ(ฎีกาที่ 905/2523, 13652/2558)

3. ผู้บุพการี (มาตรา 5 (2)) ถือตามความเป็นจริง(ฎีกาที่ 1384/2516(ประชุมใหญ่)) สำหรับผู้รับบุตรบุญธรรมมิใช่บุพการีจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย แต่บิดามารดาที่แท้จริงเป็นบุพการีมีอำนาจจัดการแทนได้(ฎีกาที่ 956/2509)

4. ผู้สืบสันดาน(มาตรา 5 (2)) ถือตามความเป็นจริง(ฎีกาที่ 2664/2547)

5.สามีภริยา(มาตรา 5 (2)) ต้องเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย(ฎีกาที่ 1056/2503)

6.สำหรับความผิดที่ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีภริยา มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้(มาตรา 5(2)) ได้แก่

               6.1 คดีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตาย หมายความว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงแก่ความตายสิ้นสภาพบุคคลไป(ฎีกาที่ 5207/2550) เช่น ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

               6.2 ผู้เสียหายถูกทำร้ายบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ หมายความว่า ผู้เสียหายถูกทำร้ายบาดเจ็บอย่างร้ายแรงจนไม่สามารถจัดการเพื่อคุ้มครองรักษาสิทธิของตนเองในขณะนั้นโดยสิ้นเชิง(ฎีกาที่ 5207/2550) เช่น ไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้(ฎีกาที่ 1339/2557)