ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

               ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็น หลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

 

หมายเหตุ

 

                              หลักฐานแห่งการกู้ยืม

1.ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ

               1.1 หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ยืม ไม่จำเป็นว่าหลักฐานเป็นหนังสือนั้นต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้(ฎีกาที่ 1883/2551)

               1.2 คำรับสภาพหนี้ในบันทึกการเปรียบเทียบของอำเภอซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ เป็นหลักฐานแสดงการกู้ยืมเป็นหนังสือ(ฎีกาที่ 1567/2499)

               1.3 สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งได้บันทึกเกี่ยวกับคดีอาญาได้บันทึกว่า จำเลยได้ขอยืมเงินของโจทก์และจำเลยสัญญาจะชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ทั้งจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างท้ายบันทึกนั้นด้วยแล้วกรณีถือได้ว่ารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินซึ่งโจทก์สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องจำเลยได้(ฎีกาที่ 3003/2538)

               1.4 ในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องจำเลยได้ให้การและเบิกความว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในคำให้การและคำเบิกความด้วยความสมัครใจ บันทึกคำให้การและบันทึกคำเบิกความดังกล่าวจึงใช้และรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมในคดีแพ่งได้ แม้จะมิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรง ในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่จำเลยต้องหาก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ(ฎีกาที่ 3498/2546)

               1.5 การที่ผู้กู้เป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันทำให้ไว้แก่ผู้ให้กู้  มีข้อความแสดงว่าผู้กู้เป็นผู้กู้เงินของผู้ให้กู้ไป และผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เขียนด้วยนั้น ถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม(ฎีกาที่ 868/2506)

                    1.6 หนังสือรับสภาพหนี้มีใจความว่าจำเลยเป็นหนี้เงินโจทก์จำนวน 19,780 บาท จำเลยรับจะชดใช้เงินให้แก่โจทก์กับมีลายมือชื่อจำเลยในฐานะลูกหนี้ลงไว้มาแสดงและมีพยานบุคคลมาสืบประกอบอธิบายได้ว่าหนี้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เงิน ถือได้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือแล้ว(ฎีกาที่ 2982/2535)

               1.7 ในเอกสารมีข้อความแสดงแต่เพียงรับรองว่า จำเลยมีหนี้อันจะพึงต้องชำระให้แก่โจทก์ โดยไม่มีถ้อยคำชัดว่า หนี้นั้นเป็นหนี้เงินกู้ หรือหนี้อย่างอื่น โจทก์ย่อมนำพยานหลักฐานสืบประกอบว่าหนี้นั้นเป็นหนี้เงินกู้ได้  เมื่อโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงความเป็นหนี้สินลงลายมือชื่อลูกหนี้แล้วและสืบพยานหลักฐานประกอบอธิบายได้ว่าหนี้สินนั้นเป็นหนี้สินแห่งการกู้ยืม เอกสารนั้นก็เป็น หนังสืออันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมแล้ว(ฎีกาที่ 439/2493 (ประชุมใหญ่))

 

2.ต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้

               2.1 จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน เขียนจดหมายถึงโจทก์ข้อความในจดหมายดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองเขียนชื่อเล่นของจำเลยทั้งสองไว้ในตอนท้ายจดหมาย ด้วยตัวอักษรหวัดแกมบรรจงถือว่า เป็นการลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 แล้ว(ฎีกาที่ 3148/2530)

                    2.2 จำเลยมอบอำนาจให้ ก. ทำสัญญาจำนองเพื่อให้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน และตามสัญญาจำนองมีข้อความระบุชัดแจ้งว่า คู่สัญญาตกลงให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วย สัญญาจำนองดังกล่าว มีผู้รับมอบอำนาจจำเลยเป็นผู้ลงชื่อไว้แทนจำเลย ซึ่งมีผลเสมอกับลายมือชื่อของจำเลย สัญญาจำนองย่อมมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่ผูกพันจำเลย(ฎีกาที่ 3039/2543)

               2.3 จำเลยเขียนชื่อจำเลยไว้ที่หัวกระดาษถัดลงมามีข้อความแสดงการยืมเงินรายการแสดงการชำระหนี้หลายครั้งและมีรายการแสดงยอดเงินคงเหลือ แต่ไม่มีลายมือชื่อจำเลยถือไม่ได้ว่าชื่อจำเลยที่เขียนไว้ที่หัวกระดาษเป็นการลงลายมือชื่อเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ(ฎีกาที่ 1419/2523)

 

3. การมีขึ้นแห่งหลักฐานเป็นหนังสือ

               หลักฐานการกู้ยืมไม่จำเป็นต้องมีในขณะกู้ยืม อาจจะมีก่อนหรือหลังกู้ยืมก็ได้(ฎีกาที่ 2335/2548, 13835/2553)

               หลักฐานการกู้ยืมหาย ผู้ให้กู้สามารถนำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบได้(ฎีกาที่ 204/2539, 203/2546)

 

4.การกู้ยืมที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ

               4.1 การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง นั้น หมายความรวมถึงการห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย เมื่อการกู้ยืมเงิน 5,000,000 บาท ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับ ร. ร่วมกันกู้ยืมจากจำเลยนั้นไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำเลยจึงไม่อาจอ้างการกู้ยืมเงินดังกล่าวขึ้นต่อสู้เพื่อยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ที่จำเลยมอบให้ยึดถือเป็นประกันไว้ได้(ฎีกาที่ 3874/2549)