ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

               (1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี

               (2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี

               (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

               (4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี

               (5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น

               ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

 

หมายเหตุ

1. อายุความฟ้องคดีอาญา

               ฎีกาที่ 5494/2534 (ประชุมใหญ่) อายุความฟ้องคดีอาญา ต้องถือตามอัตราโทษของความผิดที่พิจารณาได้ความ หากขาดอายุความศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง

               อายุความหยุดนับเมื่อได้ตัวจำเลยมาศาล แม้จะยื่นฟ้องตำเลยแล้วอายุความก็ยังเดินอยู่(ฎีกาที่ 1735/2514)

 

2. ฟ้องคดีอาญาต้องได้ตัวจำเลยมาศาลหรือมาอยู่ในอำนาจศาล

               ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง จะถือว่าจำเลยมาศาลและอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้(ฎีกาที่ 270/2528)

               จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนแล้วไม่มาศาลตามกำหนด และศาลออกหมายจับจำเลยแล้ว ถือได้ว่าจำเลยอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นแล้วตั้งแต่รับฝากขัง โจทก์ฟ้องคดีได้โดย ไม่จำต้องนำตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้อง คดีหาขาดอายุความไม่(ฎีกาที่ 717/2563)

               เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ และพนักงานสอบสวนอนุญาตให้จำเลยประกันตัวไป ต่อมาพนักงานอัยการขอผัดฟ้องโดยไม่ได้นำตัวจำเลยมาส่งศาล แม้ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาล(ฎีกาที่ 2144/2539)

 

3. วันกระทำความผิด กับ วันครบกำหนดอายุความ

               ดูมาตรา 193/5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               ฎีกาที่ 2144/2539 ข้อหาความผิดฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมาศาลภายใน 10 ปี(มาตรา 95 (3)) นับแต่วันกระทำความผิด จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527 วันสุดท้ายของอายุความ 10 ปี คือวันที่ 3 ธันวาคม 2537 


อ่าน ป.อ.มาตรา 96