ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

 

หมายเหตุ

1.การผิดสัญญาอาจเป็นได้ทั้งผิดสัญญาและละเมิดได้

               ฎีกาที่ 974/2492 ในทางแพ่ง กฎหมายไม่บังคับว่า การฟ้องคดีที่ทำได้ทั้งละเมิดและผิดสัญญานั้นโจทก์จะต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง โจทก์จะฟ้องโดยบรรยายข้อเท็จจริงและเรียกค่าเสียหายมาเฉย ๆ ก็ได้ ศาลมีหน้าที่ต้องนำเอาตัวบทกฎหมายมาปรับแก่คดีนั้นว่า ตามฟ้องโจทก์นั้นมีกฎหมายให้โจทก์ได้ค่าเสียหายตามฟ้องหรือไม่

2.จงใจหรือประมาทเลินเล่อ

               2.1 จงใจ

               ฎีกาที่ 1104/2509 จำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ถือว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อผู้ตายแล้ว เพราะการที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายก็เป็นการกระทำโดยจงใจทำร้ายผู้ตายโดยผิดกฎหมายอยู่ในตัวแล้ว แม้จะไม่มีเจตนาฆ่าก็ได้ชื่อว่ากระทำละเมิด แต่การละเมิดนั้นถึงกับมีเจตนาจะฆ่าหรือทำให้ตายโดยไม่มีเจตนานั้นเป็นเรื่องของเจตนาในการทำผิดทางอาญา เจตนากระทำกับจงใจกระทำจะตีความอนุโลมอย่างเดียวกันมิได้

               ฎีกาที่ 7121/2560 จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแม้กระทำโดยบันดาลโทสะ แต่ก็เป็นการกระทำโดยจงใจต่อผู้ตายโดยผิดกฎหมาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

               2.1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ

               ฎีกาที่ 769/2510 จำเลยเป็นหญิงอายุ 28 ปี ขับรถมาคนเดียว ขณะหยุดรถรอสัญญาณไฟเมื่อเวลา 21 นาฬิกาได้มีคนร้ายเปิดประตูรถเข้าไปนั่งคู่ และใช้ระเบิดมือขู่ให้ขับรถไป จำเลยตกใจขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟออกไปชนรถที่แล่นสวนมาโดยไม่ได้เจตนาตามพฤติการณ์เช่นนี้ จะว่าการชนเกิดเพราะความประมาทของจำเลยไม่ได้ เพราะบุคคลที่อยู่ในภาวะตกตะลึงกลัวจะให้มีความระมัดระวังเช่นบุคคลปกติหาได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่รถชนกันนั้น

3.การ “ทำ” หมายความรวมถึงการละเว้นหรืองดเว้นหน้าที่เมื่อมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

               ฎีกาที่ 2600/2538 การละเว้นกระทำไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันจะเป็นละเมิด เว้นแต่เป็นการละเว้นกระทำในเมื่อมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นจึงจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันจะเป็นละเมิด

4.โดยผิดกฎหมาย

               เช่น การดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชอบ(ฎีกาที่ 10409/2555) แต่การละเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ไม่เป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย(ฎีกาที่ 6114/2540)

5.ทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิ

               5.1 เสียหายแก่ร่างกาย อนามัย

               เช่น จำเลยใช้อาวุธปืนข่มขู่(ฎีกาที่ 4571/2556)

               5.2 เสียหายต่ออนามัย

               เหตุที่ทำให้กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจ เป็นความเสียหายแก่อนามัย(ฎีกาที่ 9042/2560)

               5.3 ความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง

               ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น หมายถึงสิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ถูกทำให้เสียหาย และจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป(ฎีกาที่ 404/2555)