ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

               อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้

 

หมายเหตุ

               1. สัตว์ หมายถึง สัตว์ทุกชนิดที่มีเจ้าของ

               2.เป็นการกระทำของสัตว์โดยตรง

               3.ผู้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน

                              3.1 เจ้าของสัตว์ คือเจ้าของกรรมสิทธิ์

                              3.2 ผู้รับเลี้ยงรับรักษา เช่น ลูกจ้าง

                              ผู้รับผิด คือ เจ้าของสัตว์หรือผู้รับเลี้ยงรับรักษา คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว หากมีผู้รับเลี้ยงรับรักษา เจ้าของไม่ต้องรับผิด ผู้รับเลี้ยงรับรักษารับผิดผู้เดียว

               ฎีกาที่ 1067/2496 มารดาเป็นเจ้าของช้างแต่บุตรเป็นผู้ดูแลรักษาช้างนั้นไว้แทนมารดา และบุตรยังได้จ้างลูกจ้างให้เป็นควานและเป็นผู้เลี้ยงรักษาช้างนั้นเมื่อเกิดการละเมิด โดยลูกจ้างปล่อยปละประมาทเลินเล่อไม่ระมัดระวังช้างเป็นเหตุให้ช้างไปทำลายสิ่งของของผู้อื่นเสียหายเช่นนี้ บุตรกับลูกจ้างต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขา แต่มารดาผู้เป็นเจ้าของช้างไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

               หมายเหตุ บุตรกับลูกจ้างร่วมกันรับผิดตามมาตรา 433 และ 425

               ฎีกาที่ 1006/2510 เจ้าของช้างใช่ให้บุคคลอื่นเอาช้างของตนไปรับจ้างลากไม้ เป็นการที่บุคคลนั้นทำแทนจำเลย เมื่อลูกของช้างนั้นไปทำอันตรายบุคคลภายนอกโดยผู้ที่เอาช้างของตนไปมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควร เจ้าของช้างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ถูกช้างนั้นทำอันตราย

               หมายเหตุ เจ้าของช้างรับผิดตามมาตรา 433 และ 427

               ฎีกาที่ 2628/2526 การที่ ป. ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูโคแทนจำเลยทั้งสองปล่อยโคขึ้นไปกินหญ้าบนไหล่ถนนอันเป็นทางหลวงระหว่างจังหวัดโดยอิสระ ไม่ผูกเชือกหรือจับจูงไว้ เป็นการปล่อย ปละละเลยไม่ระมัดระวังดูแลสัตว์ตามสมควรเพราะถนนมิใช่ที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายประมาทก่อน แต่การที่ ด. เห็นโคเดินอยู่ข้างถนนแล้วยังขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าใกล้และบีบแตร เป็นเหตุให้โคตกใจและขวิดรถจักรยานยนต์ทำให้ ด. ถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าเป็นความประมาทของ ด. ส่วนหนึ่งด้วย

               หมายเหตุ จำเลยทั้งสอง เป็นเจ้าของโค รับผิดตามมาตรา 433 โดยมี ป.เป็นผู้เลี้ยงดูโคแทนจำเลยทั้งสอง