ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 5 คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้

 

หมายเหตุ

               มูลคดีหรือสถานที่ที่เกิดมูลคดี ซึ่ง          คำว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง (ฎีกาที่ 5298/2551(ประชุมใหญ่), 15208/2556)

               มูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน เช่น ต้องร่วมกันรับผิดอันเนื่องมาจากการเป็นตัวการตัวแทน(ฎีกาที่ 4306/2550), เจ้ามรดกทั้งสามมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน(ฎีกาที่ 8647/2544), ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน(ฎีกาที่ 2586/2540), หนี้ขายลดตั๋วเงินและจำนอง(ฎีกาที่ 1517/2540)

 

ข้อสังเกต

               ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งได้ ในกรณีที่คำฟ้องนั้นอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดี และมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน แสดงว่ามีคำฟ้องสองเรื่องหรือกว่านั้นซึ่งมีสถานที่ที่เกิดมูลคดีตามมาตรา 4 (1) ที่อยู่ในเขตอำนาจศาลคนละศาลกัน ซึ่งถ้าไม่มีบทบัญญัติมาตรา 5 โจทก์ก็จะต้องเสนอคำฟ้องคนละศาลกัน แต่มาตรา 5 ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องคดีสองเรื่องมาในสำนวนเดียวกันต่อศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ ทำให้ศาลดังกล่าวมีอำนาจรับคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลตนตามมาตรา 4 (1) ไว้พิจารณาได้ แต่คดีนี้เป็นเรื่องผิดสัญญากู้เงินเพียงเรื่องเดียวที่มีสถานที่ที่เกิดมูลคดีได้หลายแห่งจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 5 เพราะโจทก์สามารถยื่นฟ้องต่อศาลดังกล่าวตามมาตรา 4 (1) ได้อยู่แล้ว ที่ศาลฎีกานำมาตรา 5 มาปรับด้วยน่าจะเกินเลยไป(ไพโรจน์ วายุภาพ หมายเหตุท้ายฎีกาที่ 5702/2548)