ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตร 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

               กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ   การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

 

หมายเหตุ

               1.กิจการที่ต้องทำเป็นหนังสือ เช่น ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เช่าซื้อ  การฟ้องคดี เป็นต้น

               2.กิจการที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น กู้ยืมเงินกว่าสองพันบาท ประนีประนอมยอมความ

               3.การฝ่าฝืนมาตรา 798 ไม่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสัญญาตัวแทน แต่มีผลกระทบคือ ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับบุคคลภายนอก

               ฎีกาที่ 10454/2558 การที่ ส. นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง 4 คดี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งหมดเข้าด้วยกัน แม้ ส. แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า กระทำในฐานะทายาทเจ้ามรดก และกระทำแทนทายาทอื่นของเจ้ามรดกในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 851 แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือว่า ส. ได้รับแต่งตั้งจากทายาทอื่นและโจทก์ให้เป็นผู้กระทำการแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 สัญญาประนีประนอมยอมความที่ ส. ทำกับจำเลยซึ่งมีการตกลงแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกรวมทั้งที่ดินพิพาทจึงไม่ผูกพันโจทก์

               4.กิจการที่กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 798

               เช่น การตั้งตัวแทนไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ซึ่งได้มีการวางมัดจำกันไว้ไม่จำต้องมีหลักฐานแต่อย่างใด(ฎีกาที่ 3339/2530), การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาตั้งแต่ห้าร้อยบาทขึ้นไป หากผู้ขายได้ส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายให้ผู้ซื้อแล้ว การตั้งตัวแทนหาจำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือไม่(ฎีกาที่ 489/2509), สัญญาขายลดเช็ค(ฎีกาที่ 1993/2536)

               5.ข้อพิพาทระหว่างตัวการและตัวแทน

               ฎีกาที่ 3497/2551 โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน และโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ไม่ขัดต่อมาตรา 798 วรรคสอง