ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 175 ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล

               ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่

                    (1) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน

                    (2) ในกรณีที่โจทก์ถอนคำฟ้อง เนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลย ให้ศาลอนุญาตไปตามคำขอนั้น

 

หมายเหตุ

               1.ถอนฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การ

                              ต้องทำเป็น “คำบอกกล่าว”

               2.ถอนฟ้องในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลอนุญาตได้โดยไม่จำต้องฟังจำเลยก่อน

               ฎีกาที่ 6412/2556 จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 กรณีไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง ที่ศาลต้องฟังจำเลยที่ 1 ก่อนมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้โดยไม่จำต้องฟังจำเลยที่ 1 ก่อน

               ฎีกาที่ 8324/2560 ป.วิ.พ. มาตรา 175 ไม่ได้ระบุให้โจทก์ต้องแสดงเหตุผลในการถอนฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวโดย จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ยื่นคำให้การสู้คดี เป็นการใช้สิทธิถอนฟ้องตามมาตรา 175 วรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่จำเป็นต้องฟังจำเลยที่ 2 ก่อน แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นคำคัดค้านคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์แต่คำคัดค้านมิใช่คำให้การตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย

               ฎีกาที่ 6412/2556 วินิจฉัยว่า กรณีไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง และฎีกาที่ 8324/2560 วินิจฉัยว่า เป็นการใช้สิทธิถอนฟ้องตามมาตรา 175 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การขอถอนฟ้องต้องทำเป็น “คำบอกกล่าว”   

               3. ขอถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การ(มาตรา 175 วรรคสอง)

               ต้องทำเป็น “คำร้อง” ซึ่งการขอถอนฟ้องกรณีนี้ ถ้าศาลจะอนุญาตให้ถอนฟ้อง ศาลจำต้องฟังจำเลยก่อนเสมอ ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องโดยยังมิได้ฟังจำเลยย่อมต้องห้ามตามกฎหมาย(ฎีกาที่ 777/2503)