ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

               แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 530/2542 การกระทำของจำเลยที่ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรกนั้นต้องพิจารณาถึงผู้กระทำว่ารู้สึกผิดชอบในการกระทำผิดลงในขณะนั้น กับขณะนั้นผู้กระทำสามารถยับยั้งหรือบังคับตนเองได้หรือไม่อันเนื่องจากมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต มิใช่ถือเอาการกระทำของจำเลยภายหลังเกิดเหตุที่นำชี้สถานที่เกิดเหตุ กับแสดงท่าทาง ในการกระทำผิดมาเป็นเกณฑ์พิจารณาประกอบการกระทำความผิดที่กระทำก่อนแล้วไม่

               จำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตมานานแล้ว จะมีการกำเริบเป็นครั้งคราวและไม่อาจรู้ได้ล่วงหน้า เมื่อมีอาการทางจิต แล้วจะรู้สึกกลัวและจำอะไรไม่ได้ การที่จำเลยฟันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับผู้เสียหายทั้งสี่มีเรื่องบาดหมางมาก่อนอันจะเป็นมูลเหตุให้จำเลยโกรธเคืองมุ่งร้ายผู้เสียหาย ถือเป็นการผิดปกติวิสัยที่คนจิตปกติจะมาฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏสาเหตุใด ๆ มาก่อน ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก

               ฎีกาที่ 2537/2548 ปัญหาใดจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติก่อน คดีนี้ปรากฏว่าในศาลชั้นต้นจําเลยมิได้ยกเหตุว่ามีอาการทางจิตในขณะกระทําความผิดขึ้นอ้าง จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนํามาปรับแก่ข้อกฎหมายดังที่จําเลยอ้างได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

               ฎีกาที่ 809/2548 จำเลยกับผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ทั้งไม่มีมูลเหตุใดอันเป็นเรื่องรุนแรงพอที่จะทำให้จำเลยต้องฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจำเลยมาโดยตลอด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ แม้ยังไม่เป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง แต่การที่จำเลยเกิดความหวาดกลัวว่าจะมีคนมาทำร้ายและหลังเกิดเหตุจำเลยวิ่งหลบหนีไปนั้น แสดงว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตใจ หรือจิตบกพร่อง แต่ก็เชื่อได้ว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคสอง