ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 3920/2562 ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว

               ฎีกาที่ 6593/2559 ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท

               ฎีกาที่ 3252/2543 คำว่า “ใส่ความ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึงพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

               ฎีกาที่ 2180/2531  การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

               ฎีกาที่ 1033/2533 การใส่ความตาม ป.อ. มาตรา 326 ผู้กระทำต้องมีเจตนาใส่ความผู้อื่น ข้อที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับตัว โจทก์ในคดีอาญาอื่นเป็นข้อที่จำเลยสืบทราบมาจากชาวบ้าน ไม่ใช่ข้อที่จำเลยประสบมาด้วยตนเอง ส่วนข้อที่ชาวบ้านบอกให้จำเลยรับทราบนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่โจทก์ไม่ทราบ การเบิกความของจำเลย จำเลยมีเจตนาจะให้ความจริงต่อศาลในการพิจารณาคดีตามที่จำเลยสืบทราบมาเท่านั้นจำเลยหาได้มีเจตนาใส่ความโจทก์ให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังแต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรานี้

               ฎีกาที่ 5080/2531 จำเลยพูดให้ ก. ฟังว่า โจทก์ไม่สนใจทำงาน ทำงานไม่มีความรับผิดชอบทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ทางราชการ ถ้า ก.อยากจะรับราชการต่อไป อย่าทำตัวเหมือนโจทก์ ดังนี้อาจทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้จึงมีมูลในความผิดฐานหมิ่นประมาท

               ฎีกาที่ 2371/2522 ผลของการใส่ความผู้อื่นน่าจะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่นั้นศาลมีอำนาจวินิจฉัยเองได้ไม่จำต้องอาศัยคำเบิกความของพยาน