ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                    มาตรา 1623  ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

 

หมายเหตุ

                    ฎีกาที่ 2560/2536 พระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดโจทก์ จึงเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 44 เดิม(มาตรา 37 ที่แก้ไขใหม่) เมื่อพระภิกษุมรณภาพโดยมิได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินและตึกแถวพิพาทซึ่งได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ จึงตกเป็นสมบัติของโจทก์ตาม มาตรา 1623

                    ฎีกาที่ 1064/2532 บิดามารดายกที่นาให้แก่พระภิกษุ ข. ภายหลังที่พระภิกษุ ข. บวชเป็นพระภิกษุ การที่พระภิกษุ ข. ขายที่นาแปลงดังกล่าวและนำเงินที่ขายได้ไปฝากธนาคาร เงินที่นำไปฝากธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ เมื่อพระภิกษุ ข. ถึงแก่มรณภาพ เงินฝากดังกล่าวย่อมตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ ข.

                    ฎีกาที่ 903/2536  แม้พระภิกษุ ช. จะได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินที่เช่าซื้อมาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศก็ตาม แต่พระภิกษุ ช. ได้เช่าซื้อและชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนแล้วก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุซึ่งหากผู้ให้เช่าซื้อไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้ พระภิกษุ ช. ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ให้เช่าซื้อโอนที่ดินได้อันเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่พระภิกษุ ช.มีก่อนที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุจึงต้องถือว่าพระภิกษุ ช. ได้ที่ดินมาแล้วก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุการจดทะเบียนการได้มาในภายหลังเป็นแต่เพียงทำให้การได้มาบริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก เท่านั้นฉะนั้นเมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์สินที่พระภิกษุ ช. ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงไม่ตกเป็นสมบัติของวัด ตามมาตรา 1623 หากแต่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่บรรดาทายาทของพระภิกษุ ช.

                    ฎีกาที่ 2157/2561 ข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินในบัญชีเป็นเงินบริจาคที่ได้มาจากการทำศพของผู้ตาย จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการศพของผู้ตายหรือไม่ ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยว่า ผู้ตายไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกและไม่ได้ตั้งผู้จัดการศพ ทายาทไม่ได้มอบหมายตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการศพ อีกทั้งไม่มีผู้ได้รับทรัพย์มรดกด้วย เพราะผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดก จึงเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ต้องวินิจฉัยโดยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยนำ ป.พ.พ. มาตรา 1649 มาปรับใช้ว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเป็นผู้มีหน้าที่จัดการศพ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตาย มีทายาท คงมีแต่โจทก์ซึ่งเป็นวัดที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่มรณภาพเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ป.พ.พ. มาตรา 1623 จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามนัยมาตรา 1649 โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจัดการมอบเงินในบัญชีให้โจทก์เพื่อนำไปใช้ในการจัดการทำศพผู้ตายต่อไป

                    ฎีกาที่ 6433/2546 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินอันจะตกเป็นสมบัติแก่วัดผู้คัดค้านเพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 1623 ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย อันจะยื่นคำร้องคัดค้านการร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้

                    ฎีกาที่ 6354/2540 แม้จำเลยที่ 2 จะได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุ ส. ไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2528 และชำระราคาครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่พระภิกษุ ส. ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จนพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพในปี 2530 เมื่อชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของพระภิกษุ ส. อยู่ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุ ส. ที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาในขณะที่พระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ดังนั้น เมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสมบัติของวัดศรีบุญเรืองตามกฎหมายและถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดศรีบุญเรืองด้วย ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33(2) กรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ มาตรา 34ซึ่งบัญญัติให้ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติฯ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องสิทธิอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์

                    ฎีกาที่ 997/2540 พระครู น. ผู้มรณภาพมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารรวม 2 บัญชีบัญชีแรกเป็นมูลนิธิวัด ต.ของวัดโจทก์ ผู้มีสิทธิถอนเงินได้แก่ผู้มรณภาพร่วมกับกรรมการวัดอีก 2 คน ส่วนอีกบัญชีฝากในนามส่วนตัวผู้มรณภาพเป็นผู้ลงนามถอนเงินได้เอง เงินที่ยกให้นี้ถอนจากบัญชีเงินฝากส่วนตัว เมื่อเป็นเงินส่วนตัวของผู้มรณภาพผู้มรณภาพย่อมจะยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ เมื่อพระครู น. ผู้มรณภาพได้ยกเงินจำนวนตามฟ้องให้แก่จำเลยโดยเสน่หา กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของจำเลยนับแต่วันรับการยกให้ เงินจำนวนนี้ไม่ใช่ของผู้มรณภาพอีกต่อไปจึงไม่เป็นมรดกตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแม้จำเลยจะมิได้ออกเงินช่วยค่าพยาบาลรักษาผู้มรณภาพ โจทก์ก็ฟ้องเรียกเงินคืนไม่ได้