ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 57  เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำแถลงของพนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่า ผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ศาลอาจตักเตือนผู้กระทำความผิด หรือจะกำหนดการลงโทษที่ยังไม่ได้กำหนดหรือลงโทษซึ่งรอไว้นั้นก็ได้

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 3519/2555 การที่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีหลังทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยที่ 4 ทำผิดเงื่อนไขคุมประพฤติในระหว่างที่ศาลรอการกำหนดโทษไว้ในคดีแรก แต่พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษในคดีหลังไว้ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นในคดีหลังใช้ดุลพินิจไม่พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ก่อนที่จะทำคำพิพากษาคดีหลังตาม ป.อ. มาตรา 58 ที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจรอการกำหนดโทษจำเลยที่ 4 ได้อีก ส่วนการที่ศาลชั้นต้นทราบจากรายงานของเจ้าพนักงานคุมประพฤติว่า จำเลยที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติของจำเลยที่ 4 แล้วแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีแรกจากรอการกำหนดโทษเป็นกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นการใช้ดุลพินิจหลังจากศาลชั้นต้นในคดีแรกทำคำพิพากษาแล้วโดยอาศัยอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 57 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับมาตรา 58 จึงมิใช่เป็นการใช้อำนาจซ้ำซ้อนตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกา

               ฎีกาที่ 6056/2544 ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยไม่ใส่ใจในการปฏิบัติตามข้อกำหนด อันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ จึงให้ยกเลิกการคุมความประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ เมื่อจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง จำเลยจะฎีกาไม่ได้ ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังเช่นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป

               ฎีกาที่ 1581/2540 จำเลยถูกจับกุมในวันเวลาเกิดเหตุเดียวกันในข้อหาร่วมกันบุกรุกและมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครอง พนักงานอัยการได้แยกฟ้องคดีร่วมกันบุกรุกเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ส่วนคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาก่อนคดีดังกล่าวให้จำคุก 6 เดือน รอการลงโทษ 2 ปี และคุมความประพฤติไว้การที่จำเลยมิได้ไปรายงานตัวในครั้งที่ 3 ถึงครั้งที่ 5 ในคดีนี้ก็เพราะเหตุถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ จึงไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด และกรณีมิใช่จำเลยกระทำความผิดขึ้นอีกหลังจากที่มีคำพิพากษาในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาคดีนี้จากรอการลงโทษเป็นให้ลงโทษที่รอไว้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 หาได้ไม่