ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                    มาตรา 233 ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

 

หมายเหตุ

                    ฎีกาที่ 2159/2562 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด

                    ฎีกาที่ 2564/2546 กรณีที่บริษัท ท. โดยผู้ชำระบัญชี ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนแบ่งที่ได้รับไปคืน หรือเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้ โดยต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และ 234