ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                    มาตรา 521  อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น

 

หมายเหตุ

                    ฎีกาที่ 10243/2550  ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ระหว่างโจทก์กับ ฉ. ซึ่งถือว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินพิพาทได้ตามมาตรา 1475 แต่ถึงแม้โจทก์จะมิได้ร้องขอดังกล่าว แต่การจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามมาตรา 1476 (1) ถึง (8) ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อ ฉ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยโจทก์ให้ความยินยอม ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ให้ตามมาตรา 521 ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องถอนคืนการให้ได้

                    โจทก์และ ฉ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หาเมื่อ พ.ศ.2528 ต่อมา พ.ศ.2536 ฉ. ถึงแก่ความตาย แต่เหตุแห่งการประพฤติเนรคุณเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2543 ภายหลังจากที่ ฉ. ถึงแก่ความตายแล้ว และจำเลยประพฤติเนรคุณเฉพาะต่อโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณได้เฉพาะในส่วนของตน

                    ฎีกาที่ 3866/2547 โจทก์ตั้งประเด็นมาในคำฟ้องเป็นเรื่องให้โดยเสน่หา และขอให้ถอนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณ แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณากลับได้ความว่าโจทก์ให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรยืมเอกสาร น.ส.3 ก. พิพาทไปใช้ในการจำนอง เมื่อชำระหนี้จำนองแล้วให้โอน น.ส.3 ก. นั้นคืนแก่โจทก์ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องให้โดยเสน่หาตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 521 โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินแปลงพิพาท โจทก์จะอ้างว่าจำเลยประพฤติเนรคุณแล้วมาขอถอนการให้ไม่ได้ ได้แต่จะฟ้องเรียกคืนทรัพย์ด้วยเหตุอื่นที่ตรงกับข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ตั้งประเด็นมาในคำฟ้องเป็นเรื่องถอนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณ ศาลฎีกาย่อมไม่อาจพิพากษาให้จำเลยโอน น.ส.3 ก. ของที่ดินแปลงพิพาทคืนแก่โจทก์เพราะเหตุอื่นได้เนื่องจากเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้อง

                    ฎีกาที่ 38/2537 การยกให้โดยเสน่หาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่จะตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 521 จะต้องมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรืออีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้รับ บันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินหลังทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย นอกจากโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้วยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยด้วย คือ แทนที่โจทก์และจำเลยจะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาด้วยกันเอง โจทก์และจำเลยกลับยอมให้ที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านอีก 1 หลัง ตกเป็นของผู้เยาว์ทั้งสองหลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา