ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 85 คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐาน

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 5197/2558 การนำสืบข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85 คู่ความย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานได้ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร 

               การที่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยขอส่งคำเบิกความของพยานที่เคยเบิกความไว้ในศาลแรงงานภาค 6 เป็นพยานเอกสาร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่พึงกระทำได้ ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารว่า พยานเคยเบิกความดังคำเบิกความตามที่โจทก์อ้างส่งจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในอันที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการนำเอาคำเบิกความของพยานในคดีอื่นมารับฟังในคดีนี้ไม่

               ฎีกาที่ 2911/2537 คำให้การต่อสู้คดีที่ว่าสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม โดยไม่อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ว่าปลอมอย่างไร เช่น เป็นการปลอมเอกสารทั้งฉบับหรือปลอมเพียงบางส่วน ซึ่งจำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งไว้ในคำให้การไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองจำเลยจึงไม่มีสิทธินำสืบพยานบุคคลตามข้อต่อสู้นั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้สืบพยานบุคคลของจำเลยมาแล้วก็ไม่อาจรับฟังได้

               หมายเหตุท้ายฎีกาที่ 558/2535 หลักการกำหนดประเด็นข้อพิพาทคดีแพ่งยึดถือตามนัยมาตรา 183 ป.วิ.พ. กล่าวคือ พิจารณาคำฟ้อง คำให้การเป็นหลักเปรียบเทียบว่าต่างกันอย่างไรข้อแตกต่างคือ ข้อโต้แย้งให้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท หรือวิวาท (ภาษากฎหมายใช้พิพาท) ผู้ใดกล่าวอ้างประเด็นข้อใดมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริง นั้น (ป.วิ.พ. มาตรา 84) โดยมีสิทธินำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้ภายใต้หลักกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยาน(ป.วิ.พ. มาตรา 85)