ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 193 ตรี  ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๙๓ ทวิ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 2644/2554 ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสาม ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาต่อไป คดีนี้โจทก์เพียงแต่ยื่นอุทธรณ์ โดยหาได้ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้อนุญาตให้อุทธรณ์ ทั้งผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้ หาได้มีข้อความใดแสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ กรณีถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี

               ฎีกาที่ 3170/2549 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งต้องระวางโทษสองในสามของโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมิได้มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี ก็ตาม จำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะการอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลจะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามฟ้องว่าต้องห้ามหรือไม่ ไม่ใช่ความผิดที่พิจารณาได้ความ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยมิได้กระทำผิดอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของจำเลยไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

               ฎีกาที่ 2751/2544 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 264, 268, 91 ซึ่งแต่ละกระทงความผิดกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าพยานโจทก์ปากต่าง ๆ ต่างยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ทำปลอมใบถอนเงิน จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย