ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา 194 ถ้ามีอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ๆ ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 2594/2562 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็ชอบที่ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จำเลยฎีกาแต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225

               ฎีกาที่ 8919/2552 ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้ง จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 200 บาท ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องต่อผู้เสียหายนั้น มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดและป้องกันชื่อเสียงของตนที่ถูกใส่ร้าย การตกอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และมีการตามเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้เข้ามาอีก ทำให้จำเลยอยู่ในสภาวะคับขันนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา เพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22

               ฎีกาที่ 2144/2550 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่า "จำเลยพาวัตถุระเบิดของกลางไปในบริเวณงานสวนสนุก" มาจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย ซึ่งพนักงานสอบสวนอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นในชั้นไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 โดยที่จำเลยมาศาลในวันดังกล่าวและแถลงไม่คัดค้านการฝากขังและลงลายมือชื่อไว้ในคำให้การพยานผู้ร้องและรายงานกระบวนพิจารณา โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการลงโทษ ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ หาใช่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวนไม่

               ฎีกาที่ 14/2542 เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ย่อมวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงแตกต่างจากศาลชั้นต้นได้ การฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์และการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ ย่อมไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ.มาตรา 194