ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 11 ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 2948/2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำความผิด แต่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 57 กรรม และผู้ร้องมิได้กล่าวมาในคำร้องหรือนำสืบให้ชัดแจ้งว่าขอดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำความผิดวันใด ทั้งตามคำร้องมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดในหนี้จากมูลละเมิดเป็นจำนวนเดียวซึ่งเป็นหนี้อันแบ่งแยกมิได้ และที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดก็เป็นหนี้จำนวนเดียว จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลย ซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ว่าขอดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดครั้งสุดท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดครั้งแรกจึงเป็นการไม่ชอบ

               ฎีกาที่ 5151/2543 ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 171 และในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตามมาตรา 11

               ฎีกาที่ 3618/2543 สัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอมมีข้อความว่า “จำเลยยอมรับผิดชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าศึกษาเล่าเรียนให้แก่บุตรทั้งสองคือ เด็กชาย อ. และเด็กชาย พ. เป็นเงินจำนวนเดือนละ 16,000 บาท โดยจำเลยยินยอมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บุตรทั้งสองคนจนกว่าจะเรียนจบชั้นปริญญาตรีหรือบรรลุนิติภาวะ” ดังนี้ เมื่อสัญญาใช้คำว่า “หรือ” จำเลยต้องชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าศึกษาเล่าเรียนสำหรับบุตรทั้งสองคนละ 8,000 บาท ต่อเดือน จนกว่าบุตรคนใดคนหนึ่งจะจบชั้นปริญญาตรีหรือบรรลุนิติภาวะในกรณีหนึ่งกรณีใดที่มาถึงก่อนแก่โจทก์จึงจะเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุตร โดยให้คิดคำนวณสำหรับบุตรเป็นรายบุคคลไป