ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา 171 ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 3325/2548 การตีความการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 นั้น หมายถึงกรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกัน หรืออาจแปลความหมายได้เป็นหลายนัย แต่ถ้าข้อความในสัญญาชัดเจนแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนาของคู่สัญญาอีก 

               คดีนี้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และนำที่ดินมาทำสัญญาจำนองไว้กับโจทก์ และหนังสือสัญญาจำนองมีข้อความระบุว่า "ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนอง เพื่อเป็นประกันหนี้ของตนเองที่มีต่อผู้รับจำนอง และคู่สัญญาตกลงให้ถือสัญญาจำนองนี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมด้วย เป็นจำนวนเงิน 48,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินร้อยละ 15 ต่อปี ?" การที่ศาลชั้นต้นนำข้อความอื่นนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวมาใช้แปลเจตนาของคู่สัญญาในทำนองเป็นที่สงสัยว่าโจทก์ตกลงคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยหรือไม่นั้น ไม่ต้องด้วยการตีความการแสดงเจตนาเพราะข้อความในสัญญาชัดแจ้งแล้ว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบ

               ฎีกาที่ 6365/2545 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรนั้น หมายถึง กรณีนิติกรรมที่ทำกันไว้มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความขัดแย้งกัน หรืออาจแปลความหมายได้เป็นหลายนัย จึงให้ตีความการแสดงเจตนาโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร แต่ถ้าข้อความในสัญญาชัดเจนแล้วย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความแสดงเจตนา ดังนี้ จึงนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา 171 มาบังคับให้ต้องสืบพยานบุคคลประกอบ เพื่อตีความถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)

               ฎีกาที่ 679/2547 การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 คือต้องถือหลักตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายจะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ นอกจากนี้การตีความสัญญายังต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ด้วย เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายของข้อความในสัญญา ศาลจึงต้องแสวงหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายโดยค้นหาเอาจากข้อความในสัญญาทั้งฉบับ รวมทั้งพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันหลังจากทำสัญญานั้นด้วย จะถือเอาแต่เพียงชื่อของสัญญาเป็นเกณฑ์เด็ดขาดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ได้

               ฎีกาที่ 5678/2545 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ให้ตีความสัญญาไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิจารณาถึงปกติประเพณีด้วย และตามมาตรา 171 ในการตีความการแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร