ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 145 ผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               เจ้าพนักงานผู้ใดได้รับคำสั่งมิให้ปฏิบัติการตามตำแหน่งหน้าที่ต่อไปแล้ว ยังฝ่าฝืนกระทำการใด ๆ ในตำแหน่งหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคแรกดุจกัน

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 7631/2549 จำเลยแสดงตนโดยบอกแก่ผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นนักเรียนว่าจำเลยเป็นสารวัตรนักเรียน และจำเลยได้ตรวจร่างกายผู้เสียหายทั้งสามโดยอ้างว่าเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เสียหายทั้งสามติดยาเสพติดให้โทษและผ่านการร่วมเพศมาก่อนหรือไม่ ทั้งให้ผู้เสียหายทั้งสามนั่งรถไปกับจำเลยโดยอ้างว่าจะไปส่งโรงเรียนแล้วกลับพาไปกระทำอนาจาร ซึ่งตำแหน่งสารวัตรนักเรียนเป็นตำแหน่งของเจ้าพนักงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน

               ฎีกาที่ 5096/2540 ครั้งแรก จำเลยและ ถ. ไปบ้านผู้เสียหาย ถ. บอกผู้เสียหายว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยได้ยินคำพูดของ ถ. แต่ก็นิ่งเฉยและมิได้ปฏิเสธเท่ากับจำเลยต้องการให้ผู้เสียหายเชื่อหรือเข้าใจตามที่ ถ. บอก ทั้งจำเลยได้เรียกเงินจำนวน 2,000 บาท จากผู้เสียหายมิฉะนั้นจะจับผู้เสียหาย พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานแล้ว

               ฎีกาที่ 2099/2527 จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่แต่งกายดังที่เจ้าพนักงานตำรวจนอกเครื่องแบบแต่งกันตามปกติ โดยนุ่งกางเกงสีกากี สวมเสื้อคอกลมขาว คาดเข็มขัดหนังยืนให้สัญญาณรถยนต์บรรทุกที่ผ่านไปมาให้หยุดรถเพื่อตรวจตรงจุดที่รถยนต์ตำรวจทางหลวงจอดอยู่เป็นประจำ อันทำให้บุคคลทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ในการเรียกตรวจรถแต่ละครั้งจำเลยแสดงให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าได้รับเงินจากพวกคนขับรถยนต์บรรทุกพฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยแสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145

               ฎีกาที่ 6551/2558 ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อนและผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน วันเกิดเหตุจำเลยมิได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพียงแต่อ้างว่าพวกของจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรก แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลลงโทษจำเลยได้เพราะมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225