พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
มาตรา 43 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร*
พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานจราจร*
หรือผู้ตรวจการมีอำนาจจัดให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่รถบางประเภทตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าได้เสพยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามวรรคหนึ่งหรือไม่
และหากผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าผู้ขับขี่นั้นไม่ได้เสพก็ให้ผู้ขับขี่นั้นขับรถต่อไปได้
ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ตรวจสอบ
ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร* พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานจราจร*
หรือผู้ตรวจการมีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้
เพื่อดำเนินการตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การตรวจสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว
และเมื่อผู้นั้นยอมรับการตรวจสอบแล้ว หากผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าไม่ได้เสพ
ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
การตรวจสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 157/1 ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร*
พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานจราจร*
หรือผู้ตรวจการที่ให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา 43 ทวิ
หรือฝ่าฝืน
หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตรวจการที่ให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ตามมาตรา 43
ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา
43 ทวิ วรรคหนึ่ง
ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอีกหนึ่งในสาม
และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน
หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี
และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี
และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท
และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าสองปี
หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี
และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 2161/2560
ในขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา
43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ผู้ที่กระทำความผิดข้อหานี้ได้นั้น
นอกจากต้องเป็นผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแล้ว
ยาเสพติดให้โทษที่ผู้ขับขี่เสพนั้นต้องเป็นไปตามที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวด้วย
เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกฎกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนตามข้อกำหนดกรมตำรวจ
เรื่องกำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่
ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 เท่านั้น
โดยขณะกระทำผิด
อธิบดีกรมตำรวจไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ
วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง
ฎีกาที่ 13539/2558
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติไว้ในลักษณะ
3 ว่าด้วยการใช้ทางเดิน
แต่ก็ไม่ได้บัญญัติว่าผู้ขับขี่ซึ่งเสพยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 43
ทวิ ต้องขับรถในทางเดินรถด้วย
และเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษเข้าสู่ร่างกาย
เนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง
อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนี้
จึงต้องพิจารณาเพียงว่าผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถหรือไม่
หากผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถไม่ว่าจะเสพในขณะขับรถหรือก่อนหน้านั้น
ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว
ฎีกาที่ 2977/2548 ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 157 ทวิ วรรคสอง นั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงสารเสพติดที่ยังคงตกค้างอยู่ในร่างกายของผู้ขับขี่เป็นสำคัญ หากมีการตรวจพบว่าในขณะที่ขับขี่มีสารเสพติดของยาเสพติดให้โทษตกค้างอยู่ในร่างกายแล้ว ไม่ว่าผู้ขับขี่จะเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้านี้เมื่อใด ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว
0 ความคิดเห็น