พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

               มาตรา 43  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ

               (8) โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น

               มาตรา 160 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่         สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) (5) หรือ (8) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 5035/2560 จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางในขณะเมาสุรา และขับรถด้วยความเร็วสูงปาดหน้ารถคันอื่นไปมาบนถนนสาธารณะในลักษณะเปลี่ยนช่องทางเพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง รถจักรยานยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ขับในขณะเมาสุราและขับโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง อันพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

               ฎีกาที่ 595/2551 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 160 และ ป.อ. มาตรา 390 เจ้าพนักงานยึดรถยนต์ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง โจทก์ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 33 และขอให้ริบรถยนต์ของกลางด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงฟังเป็นยุติว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด จำเลยจะฎีกาโต้แย้งว่ารถยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอีกไม่ได้ และแม้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดที่ใช้ลงโทษแก่จำเลยจะไม่มีบทบัญญัติให้ริบทรัพย์ดังกล่าว แต่จะถือว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับหาได้ไม่ เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 33 กำหนดให้ศาลริบทรัพย์ได้นอกเหนือไปจากกรณีที่กฎหมายอื่นได้บัญญัติไว้ด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาริบรถยนต์ของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 17, 33 (1)

               ฎีกาที่ 122/2549 การที่จำเลยขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นกับการที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาเดียวคือ ขับรถด้วยความเร็วเกินสมควรโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ บัญญัติบทฐานความผิดไว้ในมาตราเดียวกัน แต่คนละอนุมาตรา ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้

               ฎีกาที่ 4200/2546 จำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(8), 160 วรรคสาม โดยจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงฉวัดเฉวียนไปมาซึ่งความผิดเช่นว่านี้ แม้จำเลยจะมีใบอนุญาตขับรถยนต์ก็ยังเป็นความผิดได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะทราบว่าจำเลยไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ แต่ยังให้ยืมรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับขี่ ก็หาได้ถือว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยไม่

               ฎีกาที่ 4772/2539 เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายแล้ว รถจักรยานยนต์ซึ่งจำเลยใช้ขับแข่งกันในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจรย่อมเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำผิดจึงอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งให้ริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ส่วนการที่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจรหรือไม่ เป็นเพียงทำให้การแข่งรถในทางเป็นความผิดหรือไม่เท่านั้น หาได้มีผลต่อการที่ศาลจะสั่งให้ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวไม่