ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 179 โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้

               การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้

               (1) เพิ่ม หรือลด จำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ

               (2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติม หรือเสนอคำฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือ

               (3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

               แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 4675/2543 ป.วิ.พ. มาตรา 179 มิได้ห้ามการเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมโดยการเพิ่มสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับหรือข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแต่อย่างใด คำว่า เพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ มิได้หมายความว่าคำฟ้องเดิมมีความบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ ซึ่งโจทก์อาจขอเพิ่มเติมคำฟ้องเพียงเพื่อให้คำฟ้องเดิมถูกต้องและสมบูรณ์ แต่มีความหมายเพียงว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่โจทก์ขอเพิ่มเติมจากคำฟ้องเดิมนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมเท่านั้น 

               คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ แม้จะเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาขึ้นใหม่ต่างหากจากคำฟ้องเดิม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวเนื่องกับคำฟ้องเดิม ถือเป็นการแก้ไขคำฟ้องโดยการเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ตามมาตรา 179 (2) และข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเดิมและตามคำร้องขอแก้ไข คำฟ้องของโจทก์ที่ยื่นภายหลังเกี่ยวเนื่องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 179

               ฎีกาที่ 2236/2545 ระมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(3) มิได้บัญญัติว่า ข้อความที่ขอแก้ไขคำให้การจำเลยใหม่จะต้องเกี่ยวกับคำให้การเดิมหรือข้ออ้างเดิมของจำเลยคงบัญญัติห้ามเฉพาะเรื่องคำฟ้องเท่านั้น ฉะนั้นแม้การแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ 1 จะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคำให้การเดิมหรือไม่ก็ย่อมกระทำได้

               ฎีกาที่ 1587/2542 การที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้จะต้องให้ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เสียก่อน เมื่อคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยขาดองค์ประกอบสำคัญที่ศาลจะพึงรับไว้ได้และศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องสั่งคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องอีกต่อไป

               ฎีกาที่ 746/2563 โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ที่ได้ยื่นไว้ต่อศาลชั้นต้นโดยขอลดจำนวนทุนทรัพย์จาก 3,000,000 บาท ลงเหลือ 300,000 บาท ได้

               ฎีกาที่ 3748/2553 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากสัญญาเช่าเครื่องบินระงับ มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์เสนอข้อหาของตนไว้ในคำฟ้องเดิม จึงมิใช่การเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ ไม่อาจแก้ไขได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 (1) และ (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26

               ฎีกาที่ 5016 - 5017/2550  ข้อเท็จจริงตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ทั้งสอง เป็นการกล่าวอ้างมูลคดีที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้แล้ว แม้มูลคดีตามคำฟ้องเดิมกับคำฟ้องแก้ไขเพิ่มเติมจะมีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่มูลคดีเกิดขึ้นคนละคราวไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งหากจะฟังว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องแก้ไขเพิ่มเติมก็เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นภายหลังจากโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้แล้ว ถือไม่ได้ว่าคำฟ้องแก้ไขเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม

               ฎีกาที่ 4396/2549 การแก้ไขคำฟ้องคดีล้มละลายต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 โดยจะต้องเป็นการแก้ไขข้อหาหรือข้ออ้างที่มีต่อจำเลยโดยการเพิ่มหรือลดจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ มิใช่เป็นการเพิ่มหรือเปลี่ยนตัวจำเลย ซึ่งเป็นตัวบุคคลที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (2) คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการแก้ไขโดยเปลี่ยนตัวจำเลยซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะขอแก้ไขได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องเช่นนั้นไม่ได้