ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 180 การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 11317/2553 การขอแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนวันนัดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เมื่อศาลนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 มีนาคม 2553 แต่เมื่อถึงวันนัด ศาลมีคำสั่งงดชี้สองสถานและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันอื่น วันที่ 8 มีนาคม 2553 ย่อมมิใช่วันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันดังกล่าวได้

               ฎีกาที่ 806/2554 ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขตามคำร้องของจำเลยข้อแรกที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ และไม่เคยกู้เงินและรับเงินใดๆ จากโจทก์ที่ฟ้องในคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะทำคำให้การต่อสู้คดี จึงนับว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไข ทั้งมิใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะขอแก้ไขภายหลังวันสืบพยานไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ได้

               ฎีกาที่ 7465/2552   ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 โดยไม่มีการชี้สองสถาน การที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การจึงอาจทำได้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่การที่จำเลยที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การเป็นว่า สัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง จึงไม่มีมูลหนี้และตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปัญหาที่ว่านิติกรรมใดเป็นโมฆะหรือไม่ ถือเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในเรื่องดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แม้เป็นการยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม

               ฎีกาที่ 7115/2552 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์แล้วนัดฟังคำพิพากษา จึงไม่มีวันชี้สองสถานและวันสืบพยาน จำเลยที่ 3 ย่อมจะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การนอกจากที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 3 แก้ไขคำให้การได้แล้วจะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180

               ฎีกาที่ 7040/2558 ป.วิ.พ. มาตรา 180 ให้อำนาจโจทก์หรือจำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำให้การได้ กรณีไม่มีการชี้สองสถานต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฯลฯ บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิโจทก์หรือจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหรือคำให้การ แต่หาได้เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยเสมอไปไม่ เมื่อมีเหตุอันสมควรศาลสามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาคำร้องเป็นเรื่อง ๆ ไป

               ฎีกาที่ 453/2559  ป.วิ.พ. มาตรา 180 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ อันเป็นกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ซึ่งมีกำหนดเวลาไว้ว่าการขอแก้ไขต้องยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่มีวันกำหนดดังกล่าว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลมได้ การที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ไม่ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นการยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมในระยะเวลาแก้ฎีกา 

               คดีนี้จำเลยที่ 2 ได้รับหมายส่งสำเนาฎีกาเพื่อให้แก้ฎีกาภายในสิบห้าวัน โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ครบกำหนดจำเลยที่ 2 แก้ฎีกาวันที่ 29 มิถุนายน 2553 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำแก้ฎีกาฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 พ้นกำหนดแก้ฎีกาแล้ว จึงรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้

               ฎีกาที่ 183/2551 หมายเหตุท้ายฎีกา คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การที่ยื่นต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 เป็นคำร้องตามมาตรา 131 (1) ที่ศาลจะต้องมีคำสั่งอนุญาตหรือยกเสีย แต่คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การถือว่าเป็นคำให้การตามมาตรา 1 (4) และเป็นคำคู่ความตามมาตรา 1 (5) ซึ่งศาลชั้นต้นตรวจและมีคำสั่งรับ คืนหรือไม่รับตามมาตรา 177 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 18 คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังจากวันที่ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานอันเป็นการพ้นกำหนดที่จะยื่นได้ตามมาตรา 180 แล้ว ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวตามมาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 18 ไม่ได้ ต้องสั่งยกคำร้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 131 (1) แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้อง ก็ต้องถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามมาตรา 228 (3) ที่มิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาอันจะห้ามอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226 การที่ศาลสั่งไม่รับคำร้องหรือยกคำร้องจึงมีผลต่างกัน