ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา 224 ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง

 

หมายเหตุ

1.         จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์; กรณีโจทก์; จำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์คือ จำนวนที่ขาดไปจากคำขอ, กรณีจำเลย จำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ของจำเลย; ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์มีเท่ากับที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น(ฎีกาที่ 5894/2541)

2.         ดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายนับถึงวันฟ้อง ต้องนำมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์; ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายที่คิดถึงวันฟ้องให้โจทก์ 10,000 บาท เมื่อรวมกับราคาที่ดินพิพาทอีก 30,000 บาท คดีจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ 40,000 บาท ส่วนค่าเสียหายปีละ 40,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์หลังจากวันฟ้องนั้นเป็นค่าเสียหายในอนาคตจะนำไปรวมเป็นทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ด้วยไม่ได้คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง(ฎีกาที่ 4719/2538), ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2541 ถึงวันฟ้องวันที่ 12 มกราคม 2542 เป็นเงินรวม 71,999.98 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์(ฎีกาที่ 5692/2546)

3.         ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์; ราคาทรัพย์ที่พิพาทที่จะนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์นั้น ต้องถือเอาในขณะยื่นคำฟ้องเป็นหลัก(ฎีกาที่ 53-54/2540), ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ต้องถือตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นจะนำราคาทรัพย์สินที่พิพาทซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นมาคำนวณเป็นราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้(ฎีกาที่ 1439/2539), เมื่อที่ดินมีราคาเพียง 9,200 บาท ทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท(ฎีกาที่ 8269/2553),

4.         คดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล; คดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นผู้ไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลนั้น เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์หรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท และเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล(ฎีกาที่ 1182/2511)

5.         คดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว; โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย โดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. เป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ มิใช่คดีละเมิดธรรมดา ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง(ฎีกาที่ 4818/2551), อำนาจปกครอบบุตร(ฎีกาที่ 392/2523), ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือบิดามารดากับบุตร(ฎีกาที่ 319/2479)

6.          คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์;  การฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์เป็นการขับไล่บุคคลไม่ว่าจะเป็นผู้บุกรุก ผู้เช่าหรือผู้อาศัยที่ไม่มีสิทธิจะอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น คำว่าบุคคลใดดังกล่าวจึงหมายถึงบุคคลที่อยู่ในอสังหาริมทรัพย์รวมสิ่งก่อสร้างหรือทรัพย์สินที่บุคคลนั้นเข้าไปก่อสร้างหรือนำเข้าไปไว้ในอสังหาริมทรัพย์หรือการเพาะปลูกใด ๆ ด้วย มิได้หมายถึงเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปก่อสร้างกระถางต้นไม้ในที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป กับยังขอให้ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไปด้วย จึงเป็นฟ้องที่อยู่ในความหมายคำว่าฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง(ฎีกาที่ 1767/2548)

7.         คำว่าอันมีค่าเช่าใช้กับกรณีฟ้องขับไล่ผู้เช่า; คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ทั้งสามในอัตราค่าเช่าเดือนละ 2,100 บาท แม้โจทก์ทั้งสามจะเรียกค่าเสียหายหลังจากครบกำหนดสัญญาเช่าเดือนละ 11,700 บาท มาด้วย ก็ไม่ใช่ว่าอาคารพิพาทอาจให้เช่าได้เกิน 4,000 บาท กรณีที่จะต้องใช้เกณฑ์  “อาจให้เช่านั้น จะต้องเป็นกรณีฟ้องผู้อาศัยหรือผู้กระทำละเมิดอันกำหนดค่าเช่าไม่ได้ คดีนี้เป็นการฟ้องขับไล่ผู้เช่าซึ่งกำหนดค่าเช่าไว้ชัดแจ้ง เมื่อค่าเช่าไม่เกิน 4,000 บาท จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง(ฎีกาที่ 3411/2545),

8.         คำว่าอาจให้เช่าใช้กับกรณีฟ้องขับไล่กรณีอื่น ๆ;  กรณีที่จะต้องใช้เกณฑ์อาจให้เช่านั้น จะต้องเป็นกรณีฟ้องผู้อาศัยหรือผู้กระทำละเมิดอันกำหนดค่าเช่าไม่ได้(ฎีกาที่ 3411/2545), โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนอาคารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แม้จะขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 3,200 บาท หรือเดือนละ 96,000 บาท ซึ่งเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 96,000 บาท(ฎีกาที่ 6448/2551),