ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หมายเหตุ

1.         การแสดงข้อความอันเป็นเท็จกระทำโดยวิธีการใด ๆ ก็ได้; ใบปลิวโฆษณาชักชวน(ฎีกาที่ 229/2564); เปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะซึ่งติดราคา 1,785 บาท ออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทน(ฎีกาที่ 6892/2542(ป)); ปลอมเช็คและใช้เช็คปลอมไปเบิกเงินจากธนาคารโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง(ฎีกาที่ 687/2563)

2.         ข้อเท็จจริงในอนาคต; ความคิดเห็นหรือการคาดคะเนล่วงหน้า; สัญญาซื้อขายที่ดินระบุข้อความว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อขายภายใน 1 ถึง 3 เดือน เป็นข้อเท็จจริงในอนาคต(ฎีกาที่ 706/2539); พิธีเสริมดวง(ฎีกาที่ 3074/2539) ไม่เป็นฉ้อโกง

3.         แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงในอนาคต และมีข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย เป็นฉ้อโกง; สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะระบุข้อความในอนาคตว่าจำเลยกับพวกจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อขายภายใน 1 ถึง 3 เดือนนับแต่โจทก์ร่วมชำระมัดจำครบแต่ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวมีความว่าขณะทำสัญญาจำเลยกับพวกมีสิทธิในที่ดินที่จะนำมาขายให้โจทก์ร่วมเป็นการแสดงข้อความในปัจจุบันอยู่ด้วย เมื่อข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ โดยความจริงจำเลยกับพวกมิได้ตั้งใจจะขายสิทธิในที่ดินให้โจทก์ร่วม(ฎีกาที่ 706/2539)

4.         ปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง; จำเลยมีหน้าที่จะต้องแจ้งความจริงให้ทราบ อาจจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย, หน้าที่ตามสัญญา, หน้าที่ที่เกิดจากความสุจริตและความไว้วางใจกันในทางการค้าหรือหน้าที่ซึ่งเกิดจากการกระทำก่อน ๆ ของตน; จำเลยลูกหนี้ปกปิดการเป็นบุคคลล้มละลายในขณะกู้ยืมเงินโจทก์(ฎีกาที่ 1334/2555);

5.         ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นหรือบุคคลที่สาม; ผู้ถูกหลอกหลวงสมัครใจส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้หลอกลวง

6.         ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิ ได้แก่ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน(ฎีกาที่ 282/2566); ทำหนังสือสลักหลังปลอดจำนอง(ฎีกาที่ 6512/2539); หลอกลวงให้ลงชื่อในแบบพิมพ์เอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือเรื่องราวการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม(ฎีกาที่ 1962/2531)

7.         เจตนาทุจริต; ต้องมีเจตนาทุจริตมาก่อนหรือในขณะที่จะทำการหลอกลวงถ้าเจตนาทุจริตเกิดขึ้นภายหลังได้ทรัพย์สินไปแล้ว เป็นความผิดฐานยักยอก