ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์       

               มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

               เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 6857/2553 คำว่า "ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม

               ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันการกระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 หากผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ในระหว่างนี้ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ เมื่อการฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 วรรคสอง ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้

               ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสองกับ ป. เป็นผู้จัดการมรดกต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย การที่โจทก์ทั้งสองจะจัดการมรดกเพียง 2 คน โดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินของผู้ตายแก่โจทก์ทั้งสอง