ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1726 ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน
การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก
เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ
ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 18893/2555
ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า "ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน
การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน
เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด" ข้อเท็จจริงได้ความว่า
โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล
การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736
วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง
แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม
เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่
1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้
นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1
รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง
ก็ได้
ฎีกาที่ 6857/2553
คำว่า "ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน"
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น
ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม
ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันการกระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1726 หากผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย
ผู้จัดการมรดกที่เหลือต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ในระหว่างนี้ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้
เมื่อการฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1736
วรรคสอง
และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา
1726 วรรคสอง ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว
ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา
1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสองกับ
ป. เป็นผู้จัดการมรดกต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย การที่โจทก์ทั้งสองจะจัดการมรดกเพียง 2
คน
โดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้
เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม
โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินของผู้ตายแก่โจทก์ทั้งสอง
ฎีกาที่ 7824-7825/2547
กรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน
การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมากตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1726 หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย
ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย
ศ.
ผู้จัดการมรดกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ตั้งนาย ศ. เป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลต่อไป
การเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะตัวของนาย ศ. ไม่อาจรับมรดกความกันได้
จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาตามที่ผู้ร้องฎีกาขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับนาย
ศ. ต่อไป
0 ความคิดเห็น