ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว
เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา
3๗
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
(6) เมื่อคดีขาดอายุความ
(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ
หมายเหตุ
(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
ฎีกาที่ 4903/2562
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เมื่อปรากฏว่าในคดีส่วนอาญา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค
2 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1)
แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้จำหน่ายคดีของจำเลยที่
3 ออกเสียจากสารบบความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์
ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
ฎีกาที่ 8188/2561
จำเลยยื่นฎีกาและมีเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นสำเนาบันทึกการเจรจาตกลงกันระหว่าง
บ. บุตรของจำเลยกับผู้เสียหาย และสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน
มีข้อความทำนองเดียวกันระบุว่า บ. นำค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด 40,000 บาท ชำระให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวจาก บ.
แล้วและไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยอีกต่อไปทั้งในทางแพ่งและทางอาญา
ซึ่งมีความหมายว่าไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย
ท้ายข้อความดังกล่าวมีผู้เสียหายลงลายมือชื่อไว้
ซึ่งโจทก์ได้รับสำเนาฎีกาแล้วมิได้แก้ฎีกาหรือแถลงคัดค้านว่าเอกสารดังกล่าวมิใช่เอกสารที่ผู้เสียหายทำมอบให้แก่ฝ่ายจำเลยแต่อย่างใด
กรณีจึงต้องฟังว่าเป็นเอกสารที่ผู้เสียหายทำขึ้นจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างและข้อความในเอกสารดังกล่าวก็ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยได้ตกลงยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 341 และ 352
วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความกันได้
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
ฎีกาที่ 5069/2562
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น
นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว
คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว
ฎีกาที่ 5391/2562
(ประชุมใหญ่) ในคดีก่อน
ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ในการกระทำอันเดียวกันกับคดีนี้
ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี
แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์
ให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
และต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา
23 วรรคหนึ่ง ดังนี้
คำพิพากษายกฟ้องในคดีก่อนจึงเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไป
ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว
โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
(4)
ฎีกาที่ 9282/2559
ดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกัน
มีวันเวลากระทำความผิดและสถานที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับคดีนี้
เพียงแต่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของงานศิลปกรรมต่างรายกันเท่านั้น การที่จำเลยนำออกขาย
เสนอขาย
และมีไว้เพื่อขายสินค้าที่มีรูปงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายหลายรายการต่อเนื่องในวันเดียวกัน
จึงฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน
การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายแต่ละรายถือเป็นความผิดกรรมเดียวกัน
มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้จำเลยให้การรับสารภาพ
แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่
ศปก.อ.33/2558 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้แล้ว
คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีดังกล่าว
สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกับคดีดังกล่าวจึงระงับไป
0 ความคิดเห็น