ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 18 ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่
ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง
หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
สำหรับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี
ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้าง
หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา
๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ ความผิดอาญาได้เกิดในเขตอำนาจพนักงานสอบสวนคนใด
โดยปกติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนั้น
ๆ เพื่อดำเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก
จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่
หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน
ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน
การดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้น
หรือผู้รักษาการแทน
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 11858/2557
ป.วิ.อ.
การสอบสวนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา
ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา
2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า
การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ
ฎีกาที่ 5982/2550
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดในเขตอำนาจของตน
หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน
นอกจากสามกรณีดังกล่าวแล้วพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีการอ้างหรือเชื่อว่าความผิดนั้นได้เกิดภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนนั้น
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือพนักงานสอบสวนเข้าใจหรือมีความเชื่อเกี่ยวกับที่เกิดเหตุว่าความผิดได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน
ซึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่ความผิดไม่ได้เกิดในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน
แต่ได้เกิดในสถานที่อื่นนอกเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนนั้น
ฎีกาที่ 6732/2548
เหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน
ซึ่งอยู่ในเขตการสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสูงเนินซึ่งมีพันตำรวจโท ข.
เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 ส่วนที่มีพันตำรวจโท
ว. เข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนในเรื่องนี้ด้วยก็เป็นเรื่องที่พลตำรวจตรี ถ.
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา แต่งตั้งเป็นพิเศษเกี่ยวกับการสอบสวนพยานหลักฐานในคดีนี้โดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา
พ.ศ. 2523 ข้อ 2.3 ตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาที่
310/2542 เรื่องแต่งตั้งพนักงานสอบสวนคดีอาญา ลงวันที่ 19
กรกฎาคม 2542 พันตำรวจโท ว.
จึงมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน และมีอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ
เกี่ยวกับคดีนี้ได้
ฎีกาที่ 9239/2547
เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในซอยบ่อนไก่ ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่
อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เพียงท้องที่เดียว
สถานที่ที่จำเลยถูกจับกุมภายหลังการกระทำความผิดซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน
หาใช่ท้องที่ที่เกิดการกระทำความผิดด้วยไม่
เมื่อที่เกิดเหตุอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมื่องนนทบุรีพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีจึงมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนี้ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม
0 ความคิดเห็น