ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 3262/2566 จําเลยทำร้ายผู้ตายซึ่งเป็นผู้ข่มเหงในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่ผู้ตายข่มเหงจําเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมก่อนโดยจําเลยไม่ได้สมัครใจทะเลาะวิวาทกับผู้ตายตั้งแต่แรก ดังนี้ การกระทำของจําเลยเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อ.มาตรา 72 ศาลฎีกาเห็นสมควรลงโทษจําเลยน้อยกว่าโทษที่กฎหมายกำหนด

                ฎีกาที่ 1196/2564 การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และ ท. ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน เชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล เชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น

               ฎีกาที่ 6788/2554 เหตุบันดาลโทสะอาจเกิดเพราะคำบอกเล่าได้ ไม่จำเป็นต้องประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่าผู้ตายซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 มีชู้โดยจำเลยที่ 2 เห็นผู้ตายกับชายชู้เข้าห้องและปิดประตูอยู่ด้วยกัน มีลักษณะว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยที่ 1 อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายทันทีที่ได้รับคำบอกเล่าจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

               ฎีกาที่ 11966/2553 การกระทำความผิดอันจะเข้าเหตุเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะได้ ต้องเป็นกรณีที่ผู้ใดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น แม้จะฟังได้ว่า ส. หลานของจำเลยถูกผู้เสียหายทำร้าย แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกระทำความผิดต่อ ส. เท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำความผิดต่อจำเลย อีกทั้ง ส. อายุกว่า 20 ปีแล้ว จึงไม่ใช่บุคคลใกล้ชิดอันจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่จำเลยที่จะต้องคอยปกป้องดูแลมิให้ผู้อื่นมาทำร้าย กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยฟันผู้เสียหายจึงอ้างว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามกฎหมายไม่ได้