ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้ว
ให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(1) “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษา
ซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา
(2) “ผู้ต้องหา”
หมายความถึงบุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด
แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
(3) “จำเลย” หมายความถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด
(4) “ผู้เสียหาย”
หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง
รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(5) “พนักงานอัยการ”
หมายความถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ทั้งนี้ จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้
(6) “พนักงานสอบสวน”
หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
(7) “คำร้องทุกข์”
หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น
จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย
และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
(8) “คำกล่าวโทษ”
หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่
ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น
(9) “หมายอาญา”
หมายความถึงหนังสือบงการที่ออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการจับ
ขัง จำคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษ หรือให้ทำการค้น
รวมทั้งสำเนาหมายจับหรือหมายค้นอันได้รับรองว่าถูกต้อง
และคำบอกกล่าวทางโทรเลขว่าได้ออกหมายจับหรือหมายค้นแล้ว
ตลอดจนสำเนาหมายจับหรือหมายค้นที่ได้ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้
ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77
(10) “การสืบสวน”
หมายความถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่
เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด
(11) “การสอบสวน”
หมายความถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ
(12) “การไต่สวนมูลฟ้อง”
หมายความถึงกระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหา
(13) “ที่รโหฐาน”
หมายความถึงที่ต่าง ๆ
ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานดังบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา
(14) “โจทก์”
หมายความถึงพนักงานอัยการ
หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน
(15) “คู่ความ”
หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง
(16) “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ”
หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า
พนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่น ๆ
ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย
ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม
(17) “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่”
หมายความถึง เจ้าพนักงานดังต่อไปนี้
(ก)
ปลัดกระทรวงมหาดไทย
(ข)
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
(ค)
ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย
(ฆ)
ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย
(ง)
อธิบดีกรมการปกครอง
(จ)
รองอธิบดีกรมการปกครอง
(ฉ)
ผู้อำนวยการกองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง
(ช)
หัวหน้าฝ่ายและหัวหน้างานในกองการสอบสวนและนิติการกรมการปกครอง
(ซ)
ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
(ฌ)
ผู้ว่าราชการจังหวัด
(ญ)
รองผู้ว่าราชการจังหวัด
(ฎ)
ปลัดจังหวัด
(ฏ)
นายอำเภอ
(ฐ)
ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
(ฑ)
อธิบดีกรมตำรวจ
(ฒ) รองอธิบดีกรมตำรวจ
(ณ)
ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
(ด)
ผู้บัญชาการตำรวจ
(ต)
รองผู้บัญชาการตำรวจ
(ถ)
ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจ
(ท)
ผู้บังคับการตำรวจ
(ธ)
รองผู้บังคับการตำรวจ
(น)
หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
(บ)
รองหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
(ป)
ผู้กำกับการตำรวจ
(ผ)
ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
(ฝ)
รองผู้กำกับการตำรวจ
(พ)
รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
(ฟ)
สารวัตรใหญ่ตำรวจ
(ภ)
สารวัตรตำรวจ
(ม)
ผู้บังคับกองตำรวจ
(ย)
หัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
(ร)
หัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรี
หรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
ทั้งนี้
หมายความรวมถึงผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว แต่ผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงานใน
(ม) (ย) และ (ร)
ต้องมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปด้วย
(18) “สิ่งของ”
หมายความถึงสังหาริมทรัพย์ใด ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้
ให้รวมทั้งจดหมาย โทรเลขและเอกสารอย่างอื่น ๆ
(19) “ถ้อยคำสำนวน”
หมายความถึงหนังสือใดที่ศาลจดเป็นหลักฐานแห่งรายละเอียดทั้งหลายในการดำเนินคดีอาญาในศาลนั้น
(20) “บันทึก”
หมายความถึงหนังสือใดที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจดไว้เป็นหลักฐานในการสอบสวนความผิดอาญา
รวมทั้งบันทึกคำร้องทุกข์และคำกล่าวโทษด้วย
(21) “ควบคุม”
หมายความถึงการคุมหรือกักขังผู้ถูกจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนและสอบสวน
(22) “ขัง” หมายความถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล
0 ความคิดเห็น