ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา 92 ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดใด ๆ อีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 4165/2561 ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษปรับจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ไม่ถูกต้องเนื่องจาก ป.อ. มาตรา 92 บัญญัติว่า “...หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังการเพิ่มโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษจำคุกเท่านั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานดังกล่าวศาลชั้นต้นเพียงแต่ลงโทษปรับ จึงเพิ่มโทษในความผิดฐานนี้ไม่ได้

               ฎีกาที่ 9087/2559 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการเพิ่มโทษจำเลยมาแล้ว เมื่อความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้ แม้โจทก์จะขอเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 93 โดยไม่ได้ขอตาม ป.อ. มาตรา 92 มาด้วย ก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

               ฎีกาที่ 14505/2558 เมื่อโจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษในกรณีที่จำเลยได้กระทำความผิดคดีนี้ภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อน ข้อเท็จจริงจะต้องรับฟังได้ว่าจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีก่อนและได้พ้นโทษมาเมื่อวันใดด้วย

               ฎีกาที่ 5788/2549 ตาม ป.อ. มาตรา 92 ไม่ได้บัญญัติว่า ความผิดครั้งหลังจะต้องเป็นความผิดอย่างเดียวกันกับความผิดครั้งแรก เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนเป็นคดีนี้ภายใน 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แม้ความผิดคดีนี้จะมิใช่ความผิดเดียวกันกับความผิดดังกล่าว ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลจะเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ได้

               ฎีกาที่ 4436/2549 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนโดยให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี กรณีเช่นนี้จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษได้ แม้ว่าจำเลยจะมาทำความผิดคดีนี้ขึ้นอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็ตาม ก็เพิ่มโทษมิได้ 

               ฎีกาที่ 7366/2552 ศาลชั้นต้นลงโทษและเพิ่มโทษจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว ภายหลังปรากฏว่ามี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น แม้คดีจะถึงที่สุดแล้ว จำเลยก็ยังได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในคดีที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุเพิ่มโทษ จึงมิอาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 ได้

               ฎีกาที่ 266/2518 ในระหว่างที่โจทก์ต้องโทษจำคุก แม้โจทก์จะได้รับการพักโทษปล่อยตัวออกจากเรือนจำก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์พ้นโทษนับแต่วันที่ได้พักการลงโทษ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันครบกำหนดโทษของโจทก์ คือวันที่ 6 มกราคม 2515 วันพ้นโทษของโจทก์จึงต้องนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2515เป็นต้นไป ฉะนั้น วันที่โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านในวันที่ 19 มกราคม 2516 และรับเลือกตั้งเป็นกำนันในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2516 จึงยังไม่พ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษโจทก์จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งได้ โดยหาจำต้องใช้สิทธิทางศาลไม่