ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ
ฎีกาที่ 4125/2563
จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสามให้นำเงินไปลงทุนในโครงการจำหน่ายนมผง
ซึ่งไม่มีอยู่จริง แล้วจำเลยทั้งสองโอนเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
โดยอ้างว่าเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน
ก็เพื่อที่จะหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสามลงทุนต่อไป
เงินที่โอนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามดังกล่าว
จึงเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองใช้กระทำความผิดโดยเจตนาทุจริตหลอกให้ผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อและวางใจเพื่อที่จะได้นำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองเพิ่มอีก
มิใช่เป็นการคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำเงินที่ใช้กระทำความผิดดังกล่าวมาขอหักกลบลบหนี้ได้
ฎีกาที่ 778/2560
แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่
1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1
และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย
เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ
และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย
การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย
จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่
2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ
หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่
2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา
และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา
การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง
ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ประกอบมาตรา 225
0 ความคิดเห็น