พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

               มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม

               การเพิ่มเติมหรือเพิกถอนชนิดไม้ หรือเปลี่ยนแปลงประเภทไม้หวงห้ามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้แล้วก็ดี หรือจะกำหนดไม้ชนิดใดเป็นไม้หวงห้ามประเภทใดขึ้นในท้องที่ใด นอกจากท้องที่ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดตามความในมาตราก่อนแล้วนั้นก็ดี ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

               พระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ใช้บังคับได้เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ 396/2566 (ประชุมใหญ่) ที่เกิดเหตุเป็นที่ดิน ส.ป.ก 4-01 ข ที่จําเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน มิใช่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่เกิดเหตุจึงเป็นป่า

               ฎีกาที่ 397/2566 (ประชุมใหญ่) ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิเพื่อให้ไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าวไม่เป็นไม้หวงห้าม พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2563 โดย ข้อ 2 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าให้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประเภทหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตาม แบบ ส.ป.ก. 4-01 ส.ป.ก. 4-01 ก ส.ป.ก. 4-01 ข ส.ป.ก. 4-01 ค หรือ ส.ป.ก. 4-01 ช เป็นที่ดินซึ่งไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าวไม่ถือว่า เป็นไม้หวงห้าม

               ไม้ที่ขึ้นเองซึ่งอยู่ในที่ดินที่เกษตรกรได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินประเภทหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามแบบ ส.ป.ก. 4-01 ข เป็นไม้หวงห้าม